Biz news
'LOKALT/ลูคอลต์'คอลเล็คชั่นจากอิเกีย ชู4ดีไซเนอร์ไทย-จอร์แดน-อินเดีย
กรุงเทพฯ, 1 มิถุนายน 2564 - อิเกีย เปิดตัวคอลเล็คชั่นพิเศษ “LOKALT/ลูคอลต์” จากการร่วมงานกับดีไซเนอร์และธุรกิจเพื่อสังคมในท้องถิ่นจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จอร์แดน และอินเดีย ถ่ายทอดงานดีไซน์ร่วมสมัยผสมผสานงานหัตถกรรมท้องถิ่น ออกแบบเป็นของใช้ในบ้านที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และงานฝีมือพื้นบ้าน พร้อมส่งเสริมอาชีพให้แก่ช่างฝีมือท้องถิ่นในแต่ละประเทศ คอลเล็คชั่นพิเศษ LOKALT/ลูคอลต์ เริ่มวางจำหน่ายที่อิเกีย บางนา ในวันที่3 มิถุนายน 2564 และทางออนไลน์ IKEA.co.th ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป*
ดีไซเนอร์ท้องถิ่นของคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ ประกอบด้วย ดูโอนักออกแบบชาวไทยพลอยพรรณ ธีรชัย - เดชา อรรจนานันท์ ผู้ก่อตั้ง THINKK Studio จากกรุงเทพฯ, ทันยา ฮัดแดด (Tania Haddad) จากกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน และ อคานชา เดโอ (Akanksha Deo)
นักออกแบบประจำอิเกียในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม รับหน้าที่ในการผลิตผลงานให้กับคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ ได้แก่ โครงการพัฒนาดอยตุงฯจากประเทศไทย, Jordan River Foundation จากจอร์แดน, Industree และ Diamondกลุ่มช่างทอพรมหญิงท้องถิ่นในอินเดีย สร้างสรรค์คอลเล็คชั่นพิเศษจากงานทำมือ โดยช่างฝีมือที่มีทักษะ และช่วยส่งเสริมอาชีพให้ผู้คนในภูมิภาคที่มีความต้องการประกอบวิชาชีพมากที่สุด
อิเกียทำงานร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ผ่านโครงการริเริ่มของ IKEA Social Entrepreneur โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การใช้ชีวิตประจำวันดีขึ้นสร้างอาชีพระยะยาวให้กับผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ลี้ภัย ผ่านการทำงานร่วมกับ
นักออกแบบท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมสมัยใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณีและวิถีชีวิตของแต่ละประเทศ ภายใต้โครงการนี้ อิเกียได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับช่างฝีมือตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีการสร้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง
ให้กับช่างฝีมือและธุรกิจในชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งการเดินทางครั้งนี้จะยังคงดำเนินต่อไป
มาเรีย โอไบรอัน (Maria O’Brian) ผู้นำฝ่ายสร้างสรรค์ประจำอิเกียสวีเดน และหัวหน้าทีมดีไซเนอร์ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจของคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ ว่า “เรามองหานักออกแบบที่มีมุมมองทันสมัย เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่างานหัตถกรรมไม่จำเป็นต้องดูเป็นแบบดั้งเดิม
หรือล้าสมัยเสมอไป แต่สามารถใช้งานดีไซน์และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อนำมรดกทางวัฒนธรรมก้าวไปสู่อนาคตและผลิตเป็นของใช้ในบ้านคนรุ่นใหม่ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานได้จริง โดยเรามีโอกาสได้ทำงานกับทีมนักออกแบบรุ่นใหม่จากประเทศนั้นๆ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับ
ทีมช่างฝีมือท้องถิ่น และอิเกียยังได้เรียนรู้งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ อีกด้วย”