In Bangkok

2สำนักบูรณาการร่วมดูแลกลุ่มเปราะบาง เด็กพิการทางสติปัญญาติดโควิด



 กรุงเทพฯ-สำนักพัฒนาสังคมและสำนักอนามัย บูรณาการความร่วมมือดูแลเด็กกลุ่มเปราะบาง-เด็กพิการทางสติปัญญาที่ติดเชื้อโควิด-19 

นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวกรณีนายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย แนะหาแนวทางดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางและเด็กพิการทางสติปัญญา เนื่องจากขณะนี้พบเด็กกลุ่มดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นว่า กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) สำหรับกลุ่มเด็กทั่วไปที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) เขตดุสิต รองรับผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 8-15 ปี และมีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต คัดแยกผู้ป่วยออกจากบ้าน โดยคัดกรองจากศูนย์เอราวัณ เมื่อพบกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว จะประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตที่ผู้ป่วยมีที่พักอาศัยอยู่พื้นที่เขตนั้น นำส่งไปยังศูนย์พักคอยฯ เพื่อคัดกรองอาการและดูแลในเบื้องต้นจากกุมารแพทย์จิตอาสา

ส่วนกลุ่มเด็กเปราะบางและเด็กพิการทางสติปัญญา ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งโรงพยาบาล (รพ.) สนามราชานุกูล เพื่อเด็กพิเศษและครอบครัว รองรับเด็กที่มีความพิการทางสติปัญญา ออทิสติก สมาธิสั้น และบกพร่องการเรียนรู้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 - 25 ปี พร้อมสมาชิกในครอบครัว อายุไม่เกิน 60 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีผลการตรวจโควิด-19ด้วย Antigen test kit เป็นบวก มีอาการระยะเริ่มต้นในระดับสีเขียว สามารถสื่อสารได้เข้าใจ และสมาชิกในครอบครัวดูแลเด็กได้ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่สถาบันราชานุกูลบริเวณโรงเรียนราชานุกูล สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง ในด้านการรักษา สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ โดยผู้ที่ต้องการขอความช่วยเหลือ หรือต้องการประสานส่งต่อเข้ารับการรักษาที่ รพ.สนามราชานุกูล สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาสังคม โทร.097-078-0696 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โทร.084-107-8129 และสมาคมสภาคนพิการแห่งประเทศไทย โทร. 065-885-0584 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับสายตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กทม. ยังได้ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 พิการทางสายตา (Community Isolation for the Blind : CIB) บริเวณโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เขตราชเทวี เพื่อรองรับผู้ป่วยพิการทางสายตาที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19และมีอาการระยะเริ่มต้นในระดับสีเขียว สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 71 เตียง ขยายศักยภาพรองรับได้สูงสุด 75 เตียง มีทีมแพทย์จาก รพ.รามาธิบดี และศูนย์บริการสาธารณสุข 2 มักกะสัน เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสถาบันสิรินธร เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติคัดแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน คัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่ รพ.เพื่อลดปัญหาการ    แพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19 ของคนในครอบครัวและชุมชน

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ประสานความร่วมมือจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในการดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งกลุ่มเด็กทั่วไปและเด็กพิเศษกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถแยกกักที่บ้านได้ เช่น ศูนย์พักคอยสถาบันราชานุกูลรับดูแลเด็กพิเศษ ศูนย์พักคอยมูลนิธิคนตาบอดรับผู้พิการทางการมองเห็น โดยมี รพ.เป็นที่ปรึกษาและศูนย์พักคอยฯ ให้การดูแลรักษาเบื้องต้น นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเด็กพิเศษ ผู้พิการ เพื่อป้องกันและลดระดับความรุนแรงของโรคอีกด้วย