In News

นักวิชาการแนะมาตรการป้องกันฝุ่นกทม. ดีเดย์แก้ปัญหาฝุ่นPM2.5ใช้เวลา3เดือน



กรุงเทพฯ-เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมเสนอแนะมาตรการป้องกันฝุ่นที่เหมาะสมกับบริบทของกทม.พร้อมได้เตรียมพร้อมแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564 โดยเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 63 – 28 ก.พ. 64

(17 พ.ย. 63) เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานครได้เชิญคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมจากสถานศึกษาและหน่วยงานที่มีชื่อเสียงมาร่วมให้องค์ความรู้กับหน่วยงานของกรุงเทพมหานครเพื่อนำไปประกอบการจัดเตรียมแผนการทำงานเพื่อป้องกันและไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ และข้อมูลทั้งหมดในวันนี้จะนำมาวิเคราะห์ว่าประเด็นใดที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน และกำหนดเป็นแผนเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแผนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

กำหนดแผนปฏิบัติการฝุ่น 3 ระดับ

โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในที่ประชุมวันนี้ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายประเด็น โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564 โดยเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 63 – 28 ก.พ. 64 แบ่งออกเป็นระยะตามสถานการณ์ฝุ่น คือ มาตรการสำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองไม่เกิน 50 มค.ก./ลบ.ม. จะดำเนินการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.00 น. การกำกับดูแลสถานที่ก่อสร้าง บริการตรวจเช็คควันดำเครื่องยนต์ฟรี ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในการปล่อยควันดำ การล้างถนน กวดขัน ตรวจตราไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง งดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กเล็กและประชาสัมพันธ์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น 50 สำนักงานเขตและสวนสาธารณะ 20 แห่งทั่วกรุง เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารสูง เปิดสายด่วน 1584 เพื่อแจ้งเบาะแสรถควันดำ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการติดตามคุณภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชัน มาตรการสำหรับสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กระหว่าง 50-75 มค.ก./ลบ.ม. จะดำเนินการปิดการเรียนการสอนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ครั้งละไม่เกิน 3 วัน การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดในการเผา การงดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่เกิดฝุ่น การห้ามจอดรถริมถนนในถนนหลัก รอง การจัดให้มีSafe Zone ในทุกโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กสังกัดกรุงเทพมหานคร เก็บขยะมูลฝอยให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. และการออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยบริการเคลื่อนที่ กทม. 

มาตรการสำหรับสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 76 มค.ก./ลบ.ม. จะดำเนินการสั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 15 วัน ให้บุคลากรของกรุงเทพมหานครเหลื่อมเวลาการทำงานและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง และประสานให้หน่วยงานราชการใช้ระบบขนส่งมวลชน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดในการเผา การตรวจวัดควันดำรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคัน 

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครจะดำเนินการมาตรการระยะยาว ได้แก่ การปลูกป่าเป็น Buffer Zone การเร่งออกกฎกระทรวงให้รถยนต์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานควันดำวิ่งได้เท่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีระบบควบคุมกล้องตรวจวัดควันดำ และการรณรงค์ให้ภาคเกษตรปลอดการเผา การกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่เข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องปลอดเขม่าควัน การผลักดันผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซลลดก๊าซกำมะถัน ส่งเสริมสถานจำหน่ายน้ำมัน Euro 5 และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นละออง PM2.5

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครจะยังคงมาตรการการฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้ การล้างถนนและการฉีดพ่นละอองจากอาคารสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้จะช่วยให้ฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศถูกดักจับโดยต้นไม้ การล้างใบไม้จะช่วยให้ดักจับฝุ่นได้เพิ่มขึ้น การล้างพื้นถนนจะช่วยให้ฝุ่นที่ตกลงบนถนนถูกจับกับน้ำไม่ฟุ้งกระจายและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เดินสัญจรไปมา และการฉีดน้ำบนอาคารสูงจะช่วยให้ฝุ่นละอองโดยรอบอาคารโดนจับเปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศชั้นหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในอาคาร 

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนสำหรับการดำเนินการไว้แล้ว การประชุมครั้งนี้ได้เสนอให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันตรวจความเหมาะสมของแผน อีกประการที่สำคัญเช่นเดียวกันคือ การให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน เพื่อลดปัจจัยการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ในอนาคต การให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของฝุ่นละอองแบบ Real Time เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่กับปัญหาฝุ่นได้เหมือนกับที่สามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ด้วยดี