Think In Truth

'เนะ สยำกุก'ไม่ได้หมายถึง...'สยำเรียบ' โดย: ฟอนต์ สีดำ



ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า "เนะ สฺยำกุก" ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ออนไลน์ ได้อธิบายถึงคำว่า “สยำ” ว่า “ในศิลาจารึกตาแก้ว K. 79 ของพระเจ้าภววรมันที่ 2 ตรงกับ พ.ศ. 1182 แต่เขียนตามอักขรวิธีของภาษาขอมสมัยก่อนพระนครว่า “สฺยำ” ดังความในจารึกว่า “แสฺรอํโนยโปญสฺยำ”  แปลว่า “นาที่ให้โปญ (ยศขุนนาง) ชื่อ สฺยำ (เสียม)” นอกจากนี้ยังพบชื่อทาสผู้หญิงในจารึกสมัยก่อนพระนครเช่นเดียวกันใช้ชื่อว่า “สฺยำ” ดังข้อความในจารึกว่า “กุ สฺยำ 1 โกน”  แปลว่า “นางสฺยำ (เสียม) 1 ลูก 1” เป็นต้น”

นอกจากนี้ในศิลาจารึกขอมสมัยพระนครยังปรากฏการใช้คำว่า “สฺยำ” หลายแห่ง เช่น ในจารึกที่ระเบียงปราสาทนครวัด ที่มีข้อความว่า “เนะ สฺยำกุก”  แปลว่า “นี่สฺยำกุก (เสียมกุก?)” และ “อฺนกฺ ราชการฺยฺย ภาค ปมญฺ เชง ฌาล ต นำ สฺยำ กุกฺ” ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ แปลไว้ว่า “ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฺฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก”  

จากศิลาจารึกตาแก้ว K.79 ที่เอ่ยถึง “กุ สยํม” นั่นคือการได้กวาดต้อนชาว “สยำ กุก” มาเป็นทาส คำว่า กุ แปลว่านาง ที่เป็นเชลย ซึ่งสอดคล้องกับวรรณกรรมชาดกนอกณิบาต “สังข์สินไซ” คือ ข้อความจารึกที่ว่า “กุ สยำ 1 โกน” ซึ่งแปลว่า “นางสยำ 1 ลูก 1”  และจากข้อความ “อฺนกฺ ราชการฺยฺย ภาค ปมญฺ เชง ฌาล ต นำ สฺยำ กุกฺ” ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ แปลไว้ว่า “ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฺฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก”นั่นหมายถึงมีการยกกองทัพสยามมาจากเมืองเชงฌาล หรือ เมืองเป็งจาน ตามวรรณกรรมชาดกนอกณิบาต “สังข์สินไซ”

นครเปงจานปรากฏในวรรณกรรมชาดกนอกนิบาต เล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นเมืองของท้าวสินไซ วรรณเอกของลาวซึ่งท้าวปางคำบรรยายความรุ่งเรืองไว้ว่า…
“บัดนี้ยังมีนัคคะเรศล้ำซั้นชี่เป็งจาน
นิคมคนคั่งเพ็งพอตื้อ
เซียงหลวงล้นลุงลังล้านย่าน
น้ำแผ่ล้อมระวังต้ายซั่วตา
ฮุ่งค่ำล้นซาวเทศเทียวสะเภา
อุดมโดยดั่งดาวะดีงส์ฟ้า
ลือเกียรติ์เท่าธานีในทีป
เมืองใหญ่กว้างคนเค้าคั่งโฮม”

ที่อำเภอรัตนวาปีบริเวณที่ทำการนิคมสร้างตนเองบ้านเปงจาน มีเสมาหินขนาดใหญ่เหลืออยู่ชิ้นหนึ่งที่เหลือรอดจากการกวาดทิ้งลงแม่น้ำโขงเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เนื่องการอพยพเข้ามาสร้างถิ่นฐานใหม่ ชาวบ้านเรียกเสมาหินนั้นว่าเจ้าพ่อเปงจาน มีอายุอยู่ในยุคทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 12 ที่ฐานมีอักษรปัลลวะอินเดียจารึกไว้ แต่เลอะเลือนจนอ่านไม่ได้

ยังพบร่องรอยของเมืองโบราณอยู่ทั่วบริเวณริมแม่น้ำโขงเป็นแนวยาวถึง 10 กิโลเมตร ตั้งแต่นิคมสร้างตนเอง หน่วยซ่อมและบำรุง สะพาน โรงเรียนประชาบดี โรงเรียนนิคมบ้านเปงจาน จนถึงวัดเปงจานใต้ เมื่อลองขุดลึกลงไปใต้บริเวณนี้เพียงไม่กี่นิ้วก็พบซากกองอิฐกองอยู่มาก สันนิษฐานได้เลยว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ และมีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในดินแดนแถบนี้

นักวิชาการวิเคราะห์ว่ามีชื่อของนครเปงจานปรากฎอยู่ในจารึกที่ภาพสลักหินนูนต่ำ ด้านระเบียงทิศใต้ ปราสาทนครวัด กัมพูชา แสดงภาพพันธมิตรไปช่วยขอมรบจามปา ภาพแรกเป็นกองทัพพลธนู จารึกว่า “นักราชการ ยภาค ปมัญเชงฌาล ดนำ สยามกุก” ศ.ยอร์ช เซเดส์ แปลว่า “นี่คือกองทัพเชงฌาลอยู่หน้ากองทัพสยาม” ปรากฏว่าเมื่อวิเคราะห์กันตามการอักษรและการออกเสียงแล้ว คำว่าเชงฌาล ไม่มีในภาษาเขมร เซเดส์ไม่สามารถบอกได้ว่า เชงฌาลอยู่ที่ไหน เพราะอักขระที่จารึกเป็นภาษาขอม
ในภาพสลักหินที่ 2 เป็นภาพจอมทัพขี่ช้าง มีทหารเดินตาม จารึกว่า “เนียะ สยาม กุก” แปลว่า “นี่คือ กองทัพสยาม” เดิมเคยเข้าใจกันว่า สยามในภาพนั้นคือ กองทัพสุโขทัย แต่นักวิชาการปัจจุบันวิเคราะห์แล้วว่า ปราสาทนครวัดสร้างก่อนสุโขทัยร่วม 200 ปี และดูจากเครื่องแต่งกายของทหารสยามที่นุ่งโสร่งแล้ว (นายสิทธิพร ณ นครพนม) เชื่อว่าเป็นกองทัพชาวสยามจากเวียงจันทน์

ส่วนภาพแรกที่หลายคนยังกังขาอยู่ว่า “เชงฌาล” นี้อยู่ที่ไหน แต่เมื่อมองความสัมพันธ์ของภาพที่สองร่วมด้วยแล้ว กองทัพเชงฌาล ก็น่าจะมาจากลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เนื่องจากในจารึกว่าเป็นทัพหน้าของทัพสยาม ลองออกเสียงดูใหม่ปรากฎว่า “เชงฌาล” ใกล้กับคำว่า “เปงจาน” มากที่สุด คำว่า ‘เปง’ เป็นภาษาถิ่น หมายถึงกอง ‘จาน’ คือต้นจานหรือดอกจานหรือทองกวาว

หลักฐานดังกล่าวแสดงว่า การตั้งถิ่นฐานของประชากรกลุ่มต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 - 16 ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง โดยมีอำนาจการเมืองการปกครองในอาณาจักรใกล้เคียง เช่นลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นบ้านเมืองสมัยขอมเรืองอำนาจอิทธิพลเกี่ยวเนื่องกัน จนกระทั่งขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองเปงจานซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลการปกครอง หรืออาจจะเป็นรัฐอิสระอยู่ภายใต้การคุ้มครองของขอมโบราณจึงเสื่อมลงตามไปด้วย

ดังนั้น “กุ สยํม” นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเอ่ยถึงนางสุมณฑา น้องสาวของพระนางจันทาเทวี มเหสีของท้าวกุศราช ผู้ปกครองเมืองเปงจาน ซึ่งถูกยักษ์กุมภัณฑ์จับตัวมาไว้ที่เมืองอโนราช ตามบันทึกในศิลาจารึกปราสาทตาแก้วที่ว่า “แสฺรอํโนยโปญสฺยำ” คือการมอบที่นาให้คนที่ถูกกวาดต้อนมาจากสยาม ได้ทำกิน นั่นหมายความว่าถึงคนสยามจะถูกกวาดต้อนมา แต่ก็ยังได้รับความไว้ใจให้เป็นข้าราชบริภาร จนมีศักดินา และคำว่า “กุ สยำ 1 โกน” ซึ่งแปลว่า “นางเสียม 1 ลูก 1” นั้นคงหมายถึงพระนางสมณฑา เมื่อถูกจับมาเป็นเชลยที่เมืองอโนราชแล้วก็คงให้ถวายตัวเป็นนางสนม เหมือนดังตำแหน่งศรีสุดาจันทร์ และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อสุดาจันทร์ ซึ่งได้แต่งงานกับเจ้าเมืองบาดาล(น่าจะเป็นเมืองอโยธยา เพราะอโยทธาเป็นเกาะในปากน้ำเจ้าพระยา) เพราะยักษ์กุมภัณฑ์เล่นสกาแพ้เจ้าเมืองบาดาล โดยหลังจากที่สินไซชนะศึกกับเมืองอโนราชพร้อมทั้งฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ จึงเดินทางไปเมืองบาดาลเพื่อตามหลายสาวกลับเมืองเปงจาน และได้แข่งสกาเอาชนะเจ้าเมืองบาดาล แต่ทั้งนางสุมณฑา และนางสุดาจันทร์ ไม่ขอกลับนครเปงจาน เพราะยังห่วงประชาน และยังรักพระสวามี สินไชยจึงยอมไม่นำกลับเมืองเปงจาน จึงแต่งตั้งให้นางสุมณฑาปกครองนครองโนราชสืบต่อมา เมืองอโนราชคือเมืองพระนครหรืออังกอร์หรือองโคปัจจุบัน

การสิ้นอำนาจของยักษ์กุมภัณฑ์ คือการล่มสลายของอาณาจักรขอม นครธมจึงถูกปกครองโดยกษัตริย์ผู้หญิงมาโดยตลอด การปกครองโดยกษัตริย์ผู้หญิง จะใช้วัฒนธรรมประเพณีศาสนาผีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังคงศาสนสถานของพราหมณ์ศาสนาที่นับถือพระพรหม ในวัฒนธรรมขอมอยู่คือนครวัด ศาสนาพราหมณ์ กับ ศาสนาผี จึงอยู่คู่กับมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนยุคพุทธกาล และในสมัยพุทธกาล ศาสนาพุทธเองก็ได้บูรณาการณ์ปรัชญาทั้งศาสนาผีและศาสนาพราหมณ์(สยาม) เข้าด้วยกันเป็นหลักธรรมในศาสนาพุทธ ซึ่งถ้านำบทสวดมนต์ทั้งหมดมาแปล และคัดแยกคำกล่าวถึงเทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในบทสวดพุทธศาสนา จะพบว่า มีเทพสูสุดอยู่สององค์เท่านั้น คือพระอินทร์(สักกะ) และพระพรหม(พรหมา,ภุมมา)

“สยำ กุก” ที่จารึกบนผนังผนังกำแพงนครวัดนั้น ไม่ได้หมายถึงกองทัพของอังกอร์แน่ๆ ซึ่งจารึกที่ปรากฏอยู่บนผนังในนครวัด ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเสียมเรียบ นั่นหมายถึง “สยำ กุก” เป็นเมืองอีกเมืองหนึ่งที่มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างไปจากเสียมเรียบ ดังนั้นถ้าหากจะเอาคำว่า “เสียมเรียบ” มาแปลเป็นภาษาไทย ก็พบว่า เสียมเรียบแปลว่า “สยามลุ่ม” ดังนั้น “สยำกุก” น่าจะมีภูมิประเทศที่อยู่สูงกว่าเมืองเสียมเรียบ ในความเป็นไปได้ “สยำกุก” จึงหมายถึง “สยามโคก” หรือ “สยามที่ราบสูง” ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะพื้นที่ในประเทศไทย และในกัมพูชา มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่แตกต่างกันมาก

การบันทึกประวัติศาสตร์ที่เอาความเห็นของชาวตะวันตกที่มาอาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเพียงชั่วขณะ และฝังตัวเพื่อยกระดับตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นผู้ขายวัตถุโบราณที่ขโมยออกไปขายในตลาดของเก่าในยุโรปนั้น เขาจะเขียนอะไรก็ได้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือโดยไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ เพียงเพื่อให้ขายโบราณวัตถุที่ขโมยออกไปขายให้ได้ราคาสูงเท่านั้น โดยตีความจากบันทึกของนักสำรวจชาวจีน ที่เขียนรายงานต่อฮ้อเต้จีน ซึ่งบันทึกนั้น ก็ขาดซึ่งความลึกซึ้งทางมิติทางสังคม และวัฒนธรรม เช่น การบัณทึกถึงตลาดเนื้อหมู หรือ 豬肉 อ่านว่า จูโร่ว ซึ่งแปลว่าเนื้อหมู เพราะชาวจีนนิยมบริโภคหมู เขาก็มาตีความว่าเป็น “อาณาจักรเจนละ” มันน่าขำไหม “อาณาจักรเขียงหมู” หรือ “ทวารวดี” ซึ่งแปลว่าประตูกำแพงเมือง หรือ เมืองที่เปิดทำการค้า หรือจะเรียกให้เข้ากับศัพท์ทางวิชาการหน่อยก็แปลว่า “เมืองท่า” บันทึกของ โจวต้ากวนก็เขียนว่า 杜瓦拉瓦蒂 อ่านว่า ดู มา ลา มา ตี้ หรือที่นักวิชาการไทยเอามาเขียนว่า “โถโลโปตี” มันมีตั้งหลายเมือง แถมยังงมต่ออีกว่าที่ไหนเป็นเมืองหลวงอาณาจักรทวารวดี คิดแล้วก็ปวดหัวกับนักวิชาการไทย ที่งมโข่งอยู่ในอ่างการบิดเบือนประวัติเพราะความไม่รู้ของฝรั่งหัวขโมย ว่ากันง่ายๆ เลยว่า ทวารวดี ก็คือเมืองตลาดนัด แล้วจะเอาตลาดนัดมาเป็นเป็นอาณาจักร มันก็ไม่ค่อยจะเข้าท่าเท่าไหร่

ลองมาชำระประวัติศาสตร์กันใหม่กันเถอะ เริ่มต้นจากคำว่า “เสียม” เลยก็ได้ “เสียมโคก” หรือ สยำกุก กับ “เสียมเรียบ” ทั้งสองพื้นที่นี้คือ จักรวรรดิ์สยาม แล้วเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิ์สยาม คืออาณาจักร ที่มีเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งเครือญาติ ทั้งแย่งชิง ทั้งความเป็นเพื่อน เป็นมิตร ทั้งเมืองแห่งพันธสัญญา ว่าตามอิทธลพลของอาณาจักรนั้นๆ แล้วชักชวนประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพของจักรวรรดิ์สยาม ที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกัน มาชำระประวัติศาสตร์ให้ตรงกัน เพื่อความสงบสุข สันติและปรองดองของคนในประเทศต่างๆ ในดินแดนอุษาคะเนย์แห่งนี้ มาสร้างความสงบสุข ให้ประเทศต่างๆ ที่รายล้อมประเทศไทยอยู่ได้พ้นคำสาปจากบรรพชนที่มีความโกรธแค้นให้หมดไปกันเถอะ