In Thailand

สสส.ร่วมภาคีเครือข่ายพัฒนา'กังสดาล' เป็นย่านสตรีทฟู๊ดเพื่อสุขภาพ 



ขอนแก่น-สสส.จับมือภาคีเครือข่าย พัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารสตรีทฟู๊ดกังสดาลเมืองขอนแก่น เป็นย่านอาหารเพื่อสุขภาพ โดยให้แต่ละร้านเลือกทำเมนูชูสุขภาพร้านละ 1 เมนูเพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่เป็นลูกค้าประจำ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10-13 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA สำนักงานขอนแก่น พร้อมด้วย สำนักงานสาธารณสุข  จ.ขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น จัดอบรมผู้ประกอบการร้นอาหารริมทางเท้า หรือสตรีทฟู๊ด (Street Food) ย่านกังสดาล ถนนกัลปพฤกษ์ เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งอยู่ติดรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 20 กว่าร้าน เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องการปรุงอาหารจำหน่าย โดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้รับประทาน โดยมีเชฟชื่อดังของเมืองขอนแก่น ประกอบด้วย  เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์ และเชฟ กัญญารัตน์ ถนอมแสง จากร้านแก่น มาเป็นวิทยากรให้ความรู้พร้อมแนะนำเมนูเพื่อสุขภาพผู้บริโภคปลอดภัย 

จากนั้นได้ให้โอกาสผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อไปพัฒนาและปรับปรุงเมนูที่ทำขายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัดกะเพรา ไข่เจียว ต้มเลือดหมู ขาหมู ยำ ผัดไทย หอยทอด ย่างปลาหมึก หมาล่า ข้าวหมูกรอบ  ฯลฯ เพื่อให้คิดหาเมนูใหม่ให้เป็นเมนูชูสุขภาพ และทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย และได้มีการคัดเลือกร้านที่ผ่านการชิมและคัดสรรหลายร้าน เช่น ร้านเป็นหนึ่งยำแซ่บ ที่ปรุงยำด้วยการใช้ผักหลากชนิดพร้อมใส่เส้นแก้วเพื่อให้มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตลดลง พร้อมกับใส่มะนาวสด เพื่อเพิ่มความหอม และใส่น้ำปลา น้ำตาลน้อยลงเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น

ขณะที่ร้านที่ 2 คือร้านข้าวหน้าเป็ดข้าวหมูกรอบ ที่ทำเมนูข้าวผัดสีรุ้ง โดยเพิ่มผักนานาชนิดเข้าไปเพื่อให้มีสีสันและมีประโยชน์นอกจากนั้นยังไม่ใส่ผงชูรสและผงปรุงรส, ร้านที่ 3 คือร้านต้มเลือดหมู ซึ่งได้ลดปริมาณการใส่ผงชูรสในน้ำปรุงรส และเปลี่ยนจากข้าวขาวมาเป็นข้าวกล้อง และข้าวไรซ์เบอรี่ เพื่อให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น, ร้านที่ 4 คือร้านข้าวกะเพราไข่ระเบิด ที่เปลี่ยนจากการผัดกะเพราด้วยน้ำมันมาเป็นผัดกะเพราด้วยการใช้น้ำผัดและทอดไข่เจียวด้วยน้ำเช่นกันทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค, 
ร้านที่ 5 เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวป้าอ้วน ที่เปลี่ยนจากเส้นก๋วยเตี๋ยวธรรมดาเป็นวุ้นเส้นและเติมผักปริมาณเยอะขึ้นและใช้หมูสดและหมูตุ๋นแทนใส่ลูกชิ้น เพื่อให้มีประโยชน์มากกว่าเดิมและไม่มีสารปรุงแต่ง,

 ร้านที่ 6 คือครัวฮาลาลที่ทำข้าวยำปักษ์ใต้ด้วยการใช้ผักนานาชนิดและเสริมโปรตีนด้วยไข่ต้มและมีเมนูพิเศษเป็นข้าวอัญชันและข้าวกล้อง เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้นด้วย,  ร้านที่ 7 เป็นร้านร้านตะหลิวเงินที่ทำกะเพราผัดน้ำเนื่องจากร้านนี้จะเน้นใช้เนื้อหมูสดและปรุงเครื่องปรุงไม่เยอะ เน้นใช้กะเพราสดและไม่เติมผงชูรส, ร้านที่ 8 คือร้านอรษาก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ ซึ่งเดิมร้านนี้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพอยู่แล้ว แต่ทางร้านได้ปรับลดเรื่องเครืองปรุงที่ใส่ในน้ำซุปโดยใส่ผงปรุงรสน้อยลง พร้อมกับเน้นกระดูกหมูและใส่หัวไชเท้าเพื่อเพิ่มประโยชน์และความอร่อยมากขึ้น, ร้านที่ 9 คือร้านหมึกย่างลุงหลิว ที่ทำเมนูไข่เจียวทรงเครื่องทอดน้ำซึ่งไม่มีที่ไหนทำมาก่อน พร้อมกับใส่เครื่องปรุงและผงปรุงรสน้อยลง ส่วนร้านสุดท้ายคือหมูกรอบลุงแว่นที่ใช้หมูไร้มันและเปลี่ยนน้ำราดจากเดิมที่ใช้น้ำตาลเคี่ยวมาใช้ความหวานจากหล่อฮังก๊วยซึ่งมีความหวานจากพืชและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

เรื่องนี้ดร.ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การจัดทำโครงการครั้งนี้ เพื่อหวังยกระดับอาหารริมทางเท้าที่คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานโดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา เนื่องจากมีราคาถูกให้มีเมนูที่เป็นเมนูเพื่อสุขภาพและให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกมากขึ้น และทุกเมนูที่ได้รับการปรับปรุงหากต้องเพิ่มราคาเพราะวัตถุดิบเพิ่มขึ้นก็เข้าใจได้ว่าผู้บริโภคน่าจะยินดีเพื่อแลกกับอาหารที่ปลอดภัย และจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดีๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้อาหารที่ปลอดภัย โดยในปีนี้ สสส.ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ทำนิทรรศการและให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยด้วยในชื่อธีมว่า “กินดีมีสุข” เพื่อให้ข้อมูลและความรู้เรื่องการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและได้นำผลสัมฤทธิ์การทำงานของแผนงานในการดำเนินการต่อยอดทุนวัฒนธรรมชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมาโชว์ในงานด้วยโดยมีชื่อนิทรรศการว่า”อยู่ดีมีสุข”และอยากเชิญผู้สนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 

สำหรับโครงการพัฒนาร้านอาหารริมทางเท้า หรือสตรีทฟู๊ดในย่านกังสดาลนี้ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อเผยแพร่ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์หรืออีสานครีเอทีฟเฟสติวัลซึ่งจะจัดในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2567 นี้ โดยใช้พื้นที่ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และโซนพื้นที่ย่านกังสดาล เทศบาลนครขอนแก่น