In News

เตรียมรับนายกฯภูฎานเยือนไทย26มิ.ย.นี้ ร่วมมือด้าน'ท่องเที่ยว-วิจัย-การแพทย์'



กรุงเทพฯ-​โฆษกรัฐบาลเผยกำหนดการ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ร่วมกำหนดการสำคัญที่ทำเนียบรัฐบาล 26 มิถุนายน 2567เป็นการเยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 และเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปี ของระดับนายกรัฐมนตรีภูฏาน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือ ผลักดันความร่วมมือ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา พลังงานสะอาด สาธารณสุข และการเกษตร

วันนี้ (วันที่ 25 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 25 – 28 มิถุนายน 2567 นี้ ดาโช เชริง โตบเกย์ (H.E. Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมกราคม 2567 และเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปี ของระดับนายกรัฐมนตรีภูฏาน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมด้วยการกระชับความร่วมมือในแต่ละด้านที่มีศักยภาพร่วมกัน 

โดยกำหนดการสำคัญในวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ได้แก่ เวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภรรยาเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ร่วมพิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี (Four Eyes) การหารือข้อราชการแบบเต็มคณะ เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างไทยกับภูฏานในทุกด้าน หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างไทยและภูฏาน จำนวน 2 ฉบับ ในด้านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการแพทย์ และการแถลงข่าวร่วม โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรภูฏานและภริยา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานมีกำหนดการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ เป็นประเทศที่ 2 ต่อจากอินเดีย ซึ่งสะท้อนถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งในการกระชับความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์มีศักยภาพร่วมกัน เช่น การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนา สาธารณสุข การศึกษาและการเกษตร ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในระดับประชาชนด้วย