In News

สธ.เตือนภัยหน้าฝน 'งูพิษ-ไข้เลือดออก' พร้อมรับมือหลังพบอุบัติการณ์สูงช่วงนี้



กรุงเทพฯ-“เกณิกา”เผย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมแนวทางดูแลผู้ป่วยงูพิษกัดและไข้เลือดออก เหตุพบอุบัติการณ์สูงขึ้นช่วงหน้าฝน แนะ ปชช.หากถูกงูกัดให้รีบมา รพ.ทันที

วันนี้  (28 มิ.ย. 67) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในช่วงฤดูฝนที่จะมีงูพิษหนีน้ำมาและโรคไข้เลือดออกจากยุงลาย  เนื่องจากพบข้อมูลในช่วงหน้าฝนจะพบประชาชนถูกงูพิษกัดจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลจากการถูกงูพิษและสัตว์มีพิษกัดประมาณ 12,000 คน ส่วนการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก พบว่าในปี 2567 มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 1.3 เท่า 

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า อันตรายจากการถูกงูพิษกัดและโรคไข้เลือดออก ถือเป็นภัยสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูฝน มักจะมีโอกาสถูกสัตว์มีพิษกัดสูง ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการทบทวนเตรียมความพร้อมกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีความชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่รับผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาลจนถึงส่งกลับไปดูแลพักฟื้นต่อที่บ้าน รวมถึงการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการป้องกัน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 

“การถูกงูกัดเป็นภาวะฉุกเฉินหนึ่งทางการแพทย์ โดยปกติงูจะมี 2 ชนิด คือ งูมีพิษและไม่มีพิษ สำหรับพิษของงูเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์แล้วจะทำลาย 2 ระบบ คือ 1. ระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และ 2. ระบบการไหลเวียนโลหิตที่ทำให้เลือดแข็งตัว เช่น งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ ดังนั้น คำแนะนำประชาชนเมื่อถูกงูกัด อันดับแรกคือ ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด พยายามขยับบริเวณที่ถูกกัดให้น้อยที่สุดด้วยการหาไม้มาดามบริเวณแผล ป้องกันพิษไหลเวียนในกระแสเลือด จากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยมา รพ. เพื่อรับการรักษาทันที”