In News

'สุรพงษ์'คุยฟุ้ง!หมดยุครฟท.ขาดทุนแล้ว วางแผนเพิ่มรายได้10เท่าตัวปีละ2หมื่นล.



กรุงเทพฯ-“สุรพงษ์” ปรับแผนหารายได้เข้า รฟท. เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี พร้อมยกระดับรถไฟเชิงพาณิชย์ ขณะที่บริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย รัฐยังดูแลเต็มที่

เมื่อวันพุธ (31 ก.ค.2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะกับสมาชิกของ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ กล่าวถึงภารกิจสำคัญคือ การสร้างรายได้ของ รฟท. ได้ตั้งเป้าผลประกอบการหรืองบดุล จะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA ต้องไม่ติดลบ และต้องเป็นบวก หรือมีกำไร ในปีต่อๆไป โดยให้ปรับแผนงานหารายได้เพิ่มจากธุรกิจทางตรงคือการขนส่งสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี

“เรื่องนี้ถือเป็นการบ้านของ รฟท. ที่จะต้องไปหาวิธีทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งด้านการขนสินค้าและผู้โดยสาร อาจหามืออาชีพด้านการตลาดมาช่วย การวางแผนจัดสร้างเส้นทางส่วนต่อขยาย เข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการในการขนส่งสินค้ามากๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ของ รฟท.” รมช.คมนาคม กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าโดยสาร รฟท. ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2538 หรือ 29 ปีแล้ว ซึ่งจะแบ่งผู้โดยสารเป็น 2 ส่วน คือ ด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐต้องดูแลก็ให้แยกออกมา ส่วนบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 และชั้น 3 ที่พร้อมจะซื้อตั๋วที่ราคาสูงขึ้นได้ จะทำให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯรฟท.ต้องไปทำข้อมูลแยกออกมาว่า มีปริมาณผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ และ ผู้โดยสารรถไฟท่องเที่ยว เพื่อกำหนดแผนได้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้โดยสาร

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงแผนการปรับปรุงรถไฟไทยว่า ได้ดำเนินการจัดทำรถไฟท่องเที่ยวขบวนรถหรู SRT Royal Blossom ที่จะเปิดบริการเที่ยวแรกในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 นี้ นำร่องเส้นทางท่องเที่ยว กรุงเทพฯ -กาญจนบุรี เป็นรถไฟขบวนใหม่ สไตล์ญี่ปุ่น ที่การรถไฟฯ ทำการปรับปรุง หลังได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว 5 คัน จากจำนวนทั้งหมด 10 คัน ถูกออกแบบสำหรับใช้เดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีการดีไซน์ด้วยความพิถีพิถันจากฝีมือช่างคนไทย ภายในประกอบด้วยระบบสันทนาการครบครัน เพื่อให้ผู้โดยสารสัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่ มีการติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลงสำหรับรองรับชานชาลาสูง-ต่ำ และรถวีลแชร์ของผู้พิการตามมาตรฐาน Universal 

ขณะที่ภาพรวมการขนส่งทางราง นายสุรพงษ์ฉายภาพความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร -  นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ภาพรวมการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 33.48% ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาที่ยังติดขัด 2 สัญญา จาก 14 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและปรับแบบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ก.ย.นี้ และสามารถเปิดประมูลพร้อมเริ่มกระบวนการก่อสร้างภายในปี 2567 คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2572 

ด้านการการพัฒนารถทางคู่ ได้ดำเนินการก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร 

จากนั้นมีแผนเปิดใช้ทางคู่เพิ่ม ระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง ช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมระยะทาง 420 กิโลเมตร ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2567 
นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กม. ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ  ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 9.695 และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่ - หนองพอก สัญญา 2 หนองพอก - สะพานมิตรภาพ 3  ก้าวหน้าแล้วร้อยละ 2.578 อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้าง ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฯ ไปแล้ว อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป