In Bangkok
สั่งปรับโรงผลิตไฟฟ้าขยะอ่อนนุช800ตัน อุดช่องว่างเปลี่ยนเป็นระบบปิด100%
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.ลงตรวจเยี่ยมการปรับปรุงโรงงานกำจัดมูลฝอยผลิตพลังงาน 800 ตัน อุดช่องว่างเปลี่ยนเป็นระบบปิด 100% เพิ่มระบบบำบัดอากาศช่วยดับกลิ่นขยะโชยเข้าชุมชนรอบศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช
(16 พ.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ต่อเนื่องจากเดือนกันยายน 2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงโรงงาน แก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นขยะที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัทผู้รับจ้าง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้แทนบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้เดินตรวจบริเวณอาคารรับขยะ ช่องเทขยะ และบ่อรับขยะ เพื่อติดตามการปรับปรุงโรงงานให้เป็นระบบปิดทั้งหมด 100% ตรวจการติดตั้งประตู Hight Speed Shutter Door บริเวณทางเข้าอาคารรับขยะ ซึ่งเป็นประตูอัตโนมัติ จะเปิด-ปิดในเวลาที่มีรถขยะผ่านเข้า-ออก พร้อมม่านอากาศซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลิ่นกระจายออกไปสู่ด้านนอก การติดตั้งประตู Hight Speed Shutter Door บริเวณทางเข้าอาคารเก็บเชื้อเพลิง (RDF) การเพิ่มระบบบำบัดกลิ่น โดยการใช้เคมีบำบัด จากเดิม 100,000 ลบ.ม./ชม. เพิ่มเป็น 167,000 ลบ.ม./ชม. เพิ่มปริมาณการดูดอากาศ เน้นการดูดกลิ่นในบริเวณที่มีกลิ่นรุนแรง ช่วยบำบัดอากาศให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ติดตั้งหอระบบบำบัดกลิ่นและท่อรวบรวมกลิ่น พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารให้เป็นระบบปิดทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ตามกำหนดเวลาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้ขยายเวลาไว้ จากนั้นจะเริ่มทำการทดสอบอุปกรณ์ของระบบคัดแยกขยะ และระบบบำบัดกลิ่น รวมถึงทดสอบระบบ Negative Pressure Test อาคารรับขยะ และอาคารเตรียมหมักและขนถ่าย RDF จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เมื่อการทดสอบแล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพการปรับปรุงแก้ไขโรงงาน บริษัทฯ จึงได้กำหนดแผนทดลองเดินระบบ เริ่มรับขยะเข้าในช่วงเดือนธันวาคม 2567 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยทยอยเพิ่มปริมาณรับขยะจาก 200 ตัน เป็น 400 ตัน เป็น 600 ตัน และ 800 ตัน ตามสำดับ บริษัทฯ ได้แจ้งความประสงค์ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม พิจารณาเห็นชอบขยายเวลาการปรับปรุงแก้ไขโรงงาน (ลำดับ 106) ออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
ในการนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมติดตามการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของโรงงานกำจัดมูลฝอยภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการทำงานของคณะกรรมการและบริษัทฯ เพื่อให้การปรับปรุงแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นขยะเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณโดยรอบ
สำหรับโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน เป็นโครงการตามนโยบายการบริหารจัดการมูลฝอย โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดพื้นที่การนำขยะไปฝังกลบ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน เป็นโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (Mechanical-Biological-Treatment : MBT) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีผลพลอยได้เป็นขยะเชื้อเพลิง (RDF) และขยะรีไซเคิล เริ่มเปิดเดินระบบมาตั้งแต่ปี 2563 ต่อมามีการร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหากลิ่น ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สั่งระงับใบอนุญาต เพื่อให้บริษัทฯ ปรับปรุงระบบ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่น โดยอนุญาตให้กลับมาเปิดเดินระบบทดสอบรับกำจัดขยะ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 ต่อมา กรอ. ได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม ในเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย และการตรวจค่าวัดกลิ่น
ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินงานตามคำสั่งของ กรอ. ดังนี้ 1.โรงผลิตก๊าซชีวภาพ และบำบัดน้ำเสีย มีลำดับการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) วันที่ 2 เมษายน 2567 กรอ. มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า ตามที่ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจัดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน และให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ.2558 ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ กรอ. ได้ตรวจสอบโรงงานเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 พบว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งแล้ว 2) วันที่ 19 เมษายน 2567 กรอ. มีคำสั่งขยายระยะเวลาการปรับปรุงแก้ไขโรงงานออกไปถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 โดยให้แสดงรายละเอียดการนำน้ำทิ้งจากการปรับคุณภาพน้ำ เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ในโรงงาน โรงผลิตก๊าซชีวภาพ และบำบัดน้ำเสียเท่านั้น ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดส่งข้อมูลให้ กรอ. เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 3) วันที่ 26 สิงหาคม 2567 กรอ. แจ้งผลการปฏิบัติการตามคำสั่ง มาตรา 37 ของโรงผลิตก๊าซชีวภาพ และบำบัดน้ำเสีย พบว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งแล้ว 2.โรงคัดแยก ตามที่บริษัทฯ ได้ส่งแผนและมาตรการปรับปรุงโรงงานเป็นระบบ Negative Pressure ให้ กรอ. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เพื่อขอให้ กรอ. พิจารณาขยายระยะเวลาการปรับปรุงโรงงาน ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 กรอ. มีคำสั่งให้ขยายเวลาการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ออกไปจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นขยะรบกวนชุมชนโดยรอบโครงการฯ ดำเนินการดังนี้ 1.การปรับปรุงโรงงานให้เป็นโรงงานปิด 100% ดำเนินการอุดรอยรั่วบริเวณรอยต่อของหลังคาและผนังอาคารรับขยะ ปรับปรุงประตูทางเข้าอาคารขนถ่าย RDF และอุดรอยรั่วบริเวณรอยต่ออาคาร 2.การติดตั้งประตู High Speed Shutter Door บริเวณทางเข้าอาคารรับ พร้อมม่านอากาศ การติดตั้งประตู High Speed Shutter Door บริเวณทางเข้าอาคารเก็บเชื้อเพลิง (RDF) 3.เพิ่มระบบบำบัดกลิ่น โดยการใช้เคมีบำบัด จากเดิม 100,000 ลบ.ม./ชม. เพิ่มเป็น 167,000 ลบ.ม./ชม. ซี่งการเพิ่มปริมาณการดูดอากาศจะเป็นการเน้นการดูดกลิ่นในบริเวณที่มีกลิ่นรุนแรง ได้แก่ บริเวณเครื่องเตรียมหมัก (Biodamp) บริเวณเครื่องบีบอัด (Screw press) บริเวณชุดแยกกรวดทราย (Aerating sand) 4.การติดตามปัญหาเรื่องกลิ่นขยะ การลงพื้นที่สอบถามกับชุมชนบริเวณโดยรอบโครงการฯ การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดกลิ่น E-NOSE ในจุดที่เฝ้าระวัง