In Global
วิเคราะห์..'โจ ไบเดน'ถึงท่าทีของสหรัฐฯ กับความสัมพันธ์ต่อจีน
จีน-เมื่อสหรัฐฯ ถอนกองทัพจากอัฟกานิสถานอย่างสมบูรณ์ และอัฟกานิสถานเองก็ได้ประกาศรัฐบาลชั่วคราวภายใต้การนำของกลุ่มตาลีบัน เหตุการณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ 9/11 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่กี่วันนี้ ดูแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงสองทศวรรษหลังการโจมตี 11 กันยายน 2001 การต่อต้านการก่อการร้ายได้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยของอเมริกาที่มีความสำคัญสูงสุด ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถานเปลี่ยนแปลงไป การมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ของอเมริกาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด?
ในการปราศรัยครั้งแรกของประธานาธิบดีโจ ไบเดน หลังถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน โจ ไบเดน ระบุว่า “อเมริกามีความจำเป็นต้องเสริมความสามารถของตนเองเพื่อการแข่งขันกับประเทศจีน” และเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน ก่อนวันระลึกถึงเหตุการณ์ 9/11 ในปีนี้ (2021) เพียง 1 วัน เขา ในนามของประธานาธิบดีอเมริกาได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับทาง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อเมริกาก็เป็นได้
ผลสำรวจการยอมรับผลงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดย ABC News/Washington Post ชี้ให้เห็นว่า คะแนนของโจ ไบเดน ตกลงอย่างหนัก ท่ามกลางการไม่ยอมรับในวงกว้างเกี่ยวกับการจัดการการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน มีเพียง 36% ของชาวอเมริกันที่มีความเห็นว่าการทำสงครามในอัฟกานิสถานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นสิ่งคุ้มค่า 77% สนับสนุนสหรัฐฯ ในการถอนกำลังทหาร แต่ 60% ไม่เห็นด้วยกับวิธีที่โจ ไบเดน ใช้ในการถอนกำลังทหารอย่างเร่งรีบ
ในขณะเดียวกัน 44% คิดว่าการถอนตัวออกจากสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ปลอดภัยจากการก่อการร้ายน้อยลง ในขณะที่มีเพียง 8% ที่คิดว่าประเทศปลอดภัยขึ้น
ไม่ใช่แค่ปัญหาจากกระแสเชิงลบหลังการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ทั้งจากชาวอเมริกัน และทั่วทั้งโลก โจ ไบเดน ยังเจอความยากลำบากจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติในดินแดนอเมริกา ซึ่งเดือนนี้ เขาไปเยี่ยมชมพื้นที่น้ำท่วมร้ายแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกล่าวว่าพายุเฮอริเคนไอดาแสดงให้เห็นถึงความหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเขาเริ่มโฟกัสความสำคัญไปที่การลงทุนเพื่อเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานในการต่อสู้ภาวะโลกร้อน หลังจากที่หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โฟกัสอยู่กับความชุลมุนหลังการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน
สำหรับสถานการณ์นอกประเทศ น่าจับตามองเช่นกันในด้านการทูต โจ ไบเดน ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเยือนประเทศแถบเอเชีย ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เยือนสิงคโปร์และเวียดนาม หลังจากที่ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่งไปเยือนภูมิภาคดังกล่าว ไม่ถึงหนึ่งเดือน และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ช่วงเวลาเดียวกับเส้นตายในการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน จอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านสภาพภูมิอากาศ ได้เดินทางเยือนจีน
มีการวิเคราะห์ออกมาอย่างกว้างขวางถึงท่าทีของสหรัฐฯในยุคโจ ไบเดน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงในอัฟกานิสถาน โดยคาดกันว่า โจ ไบเดน เตรียมมุ่งเป้าการให้ความสำคัญไปที่ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและเตรียมเปิดกว้างพื้นที่ในการดีลกับจีน
ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ภาคภาษาอังกฤษ (CGTN) ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ในการประชุมTaihe Civilizations Forum ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ถึงประเด็นท่าทีของโจ ไบเดน และสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีน โดยได้รับความคิดเห็นอันน่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ดังนี้
หลี่ เฉิง ผู้อำนวยการวิจัยและนักวิจัยอาวุโส ศูนย์จีน John L. Thornton โครงการนโยบายต่างประเทศ สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution)สถาบันวิชาการชื่อดังของอเมริกา ได้แสดงความคิดเห็นว่าการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทางด้านอำนาจ อิทธิพล และจิตวิทยาของอเมริกา ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มกำลังของอเมริกาด้วยภายใต้แนวทางที่แข็งกร้าวและเฉียบขาดต่อกิจการต่างประเทศโดยผู้ที่กำหนดนโยบายมักได้รับแรงจูงใจจากทางการเมืองในประเทศ
นักวิจัยอาวุโสบางคนที่สถาบันไท่เหอ (Taihe Institute) สถาบันคลังสมองที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กล่าวเสริมว่า การตัดสินใจจำนวนมากในสหรัฐฯ กระทำโดยกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ โดยกล่าวว่าอเมริกาให้ความสำคัญกับการเมืองภายในประเทศมากกว่า นั่นคือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสองพรรคการเมือง
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย จีนอเมริกา เป็นไปตามผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศและประชาชนของพวกเขา โดยเป็นไปแบบ “ทีละขั้น”
สตีฟ ออร์ลินส์ ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงแง่มุมหลายประการที่ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้
เขาสังเกตเห็นการเริ่มต้นใหม่ของความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปิดสถานกงสุลของสองประเทศขึ้นอีกครั้งในเมืองเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา รวมถึงข้อตกลงเรื่องการลดภาษีของทั้งสองประเทศ
“เนื่องจากโดยพื้นฐานจีนและอเมริกามีความแตกต่างกัน การร่วมมือของทั้งสองประเทศที่เป็นไปได้ จึงมีเพียงการดำเนินการแบบเล็กๆที่เป็นรูปธรรม ดำเนินอย่างมั่นคง จึงจะสามารถสร้างความไว้วางใจขึ้นใหม่ได้” สตีฟ ออร์ลินส์ กล่าวย้ำ
-------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล:
https://news.cgtn.com/news/2021-09-12/After-Afghan-withdrawal-will-U-S-turn-to-China--13rVgl9BNAY/index.html?fbclid=IwAR0jK0Uo87oHBGNcXgBej6nmDAmNCLeXX06oZ0hd5bJ3OTsrjgbnaZuB9RE