In News

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี62 มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้งสิ้น3,360คน



กรุงเทพฯ-14 ธันวาคม 2563  เวลา 12.47 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2562 เป็นวันแรก

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมหาสารคาม  ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม  นายกสภามหาวิทยาลัย  กรรมการสภามหาวิทยาลัย  อธิการบดี รองอธิการบดี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม ผู้แทนบัณฑิต ผู้แทนนิสิต  และผู้แทนนักเรียน เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและนโยบาย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าเผ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2562    นายสราวุธ เบญจกุล นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ   และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์  ศรีวิไล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กราบบังคมทูลถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีมติทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาตะวันออก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนพระราชจริยวัตรอันเพียบพร้อมสมบูรณ์ ทรงศึกษาเรียนรู้ด้านภาษาตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ทรงมีผลงานที่ยังประโยชน์ยอดเยี่ยมในเชิงวิชาการและงานสร้างสรรค์วรรณศิลป์ภาษาตะวันออก เป็นที่ประจักษ์ชัดและได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 

จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กราบบังคมทูลเบิกพระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร  และพระสงฆ์ผู้ได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประเภทผู้ทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัย คือ พระสารคามมุนี (บุญเรือง ฐานทตฺโต) และมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ารับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์  คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นประจำปี ซึ่งถือเป็นบุคคล ที่สร้างคุณงามความดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติสมควรได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำประเภทศิษย์เก่าดีเด่น คือ นายรณวริทธิ์  ปริยฉัตรตระกูล

และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนโยบายส่งเสริมและเชิดชูเกียรตินักวิจัย ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ในวงวิชาการหรือสังคมวิชาการทั่วไป ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการทำงานวิจัย และสมควรได้รับพระราชทานรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงราตรี สว่างจิตร  จากนั้นอธิการบดีกราบบังคมทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานทุนภูมิพล ประจำปีการศึกษา 2562 จำนวน 33 ราย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันนี้เป็นวันแรก มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวนทั้งสิ้น 3,360  คน ประกอบด้วย ระดับปริญญาเอก 88 คน ปริญญาโท 294 คน และปริญญาตรี 2,978 คน ภายหลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พระราโชวาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจําปีการศึกษา ๒๕๖๒ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคามวันจันทร์ ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้า มาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจําปีนี้ ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสําเร็จ ทั้งขอขอบใจมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ที่มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา ภาษาตะวันออก แก่ข้าพเจ้า

การที่บัณฑิตได้สําเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนั้น มีความสําคัญต่อสังคมอย่างมาก เพราะสังคมจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้สูงเพิ่มขึ้นอีกเป็นจํานวนมาก มาช่วยกันสร้างสรรค์ ประโยชน์และความเจริญมั่นคง. บัณฑิตทุกคนจึงควรตระหนักถึงความสําคัญในข้อนี้ แล้วตั้งใจ พยายามนําความรู้ที่มีอยู่ ไปใช้ให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์ ด้วยความเข้าใจ จริงใจ และเต็มใจ ที่ว่าใช้ด้วยความเข้าใจนั้น คือเข้าใจว่า จะนําความรู้ใด ไปใช้ทําอะไร และต้องใช้อย่างไร ที่ว่าใช้ด้วยความจริงใจ หมายความว่า มีความสุจริตบริสุทธิ์ใจ ที่จะนําความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์    อย่างแท้จริง ไม่นําความรู้ไปบิดเบือนเพื่อให้บังเกิดผลในทางเสื่อมเสียหาย. ที่ว่าใช้ด้วยความเต็มใจ หมายถึง ยินดีและสมัครใจ ที่จะนําความรู้ไปใช้โดยเต็มกําลังสติปัญญาความสามารถ จนงานที่ทํา สําเร็จผลเป็นประโยชน์ยั่งยืนแก่ตนแก่ส่วนรวม. จึงขอให้บัณฑิตทุกคนพิจารณาเรื่องนี้ให้ทราบชัด แล้วนําไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการใช้ความรู้ ให้สมกับที่แต่ละคนเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า ของสังคมสืบไป.

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและหน้าที่การงาน ทั้งขอให้ทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดี โดยทั่วกัน