In Thailand

คลิกออฟประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน จากโขงสู่หนองหาร'ปลาพื้นถิ่น'5ล.ตัว



สกลนคร-Kick off ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร season 2 เตรียมเพิ่มประชากร “ปลาพื้นถิ่น” กว่า 5 ล้านตัว ลงสู่หนองหาร จ.สกลนคร

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 น. ณ ท่าน้ำวัดมหาพรหมาโพธิราช บ้านท่าวัดเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านจากโขงสู่หนองหาร ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ กว่า 5 ล้านตัว ลงสู่หนองหาร จังหวัดสกลนคร พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในหนองหาร จังหวัดสกลนคร” ตลอดจนเยี่ยมชมการดำเนินการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำด้วยระบบเพาะฟักเคลื่อนที่ Mobile hatchery และนิทรรศการความรู้ทางการประมง หลังโครงการแล้วเสร็จคาดว่าจะเพิ่มผลผลิตและคงความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่หนองหารและลุ่มน้ำก่ำ และก่อประโยชน์ในการทำประมงของชุมชน และเป็นแหล่งโปรตีนให้กับประชาชนในอนาคต

 นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 กรมประมงได้ดำเนินโครงการ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” เพื่อฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศต้นน้ำและแม่น้ำสาขา ด้วยการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ด้วย “ชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่” (Mobile hatchery) และนำผลผลิตลูกปลาวัยอ่อนที่ได้ปล่อยคืนสู่ต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิด ซึ่ง 2 พื้นที่เป้าหมาย คือ หนองหาร จังหวัดสกลนคร และกว๊านพะเยา จังวหัดพะเยา โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเฟสที่ 1 ผลปรากฏว่า สามารถสร้างผลผลิตทรัพยากรปลาไทยและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึง 76.79  ล้านตัว สามารถเพิ่มอาหารโปรตีนราคาถูกและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม

ด้วยเหตุนี้ กรมประมง จึงขยายผลไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อื่นๆ โดยได้กำหนดชนิดพันธุ์ปลาที่ได้ดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ จำนวน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มปลากินพืช ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากาดำ และปลากระแห และ 2.กลุ่มปลาหนัง ได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพและปลากดเหลือง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเพิ่มผลผลิตในโครงการนี้ โดยกรมประมงได้มีการสนับสนุนการสร้างแหล่งอาหารสำรองเพื่อรองรับจำนวนลูกปลาที่จะนำมาปล่อย เป็นการเพิ่มอัตราการรอดและการเติบโตของลูกปลาจำนวนมาก หลังจากนำไปปล่อยในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ และจะมีการประเมินความชุกชุมการแพร่กระจายและการเติบโตของพันธุ์ที่นำมาปล่อยอีกด้วย ภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในพื้นที่รองอธิบดี กล่าว.