In Bangkok

กทม.จับมือภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาสุนัข กวดขันห้ามให้อาหารนกที่สาธารณะ



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย กทม.จับมือภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัด พร้อมกวดขันห้ามให้อาหารนกในที่สาธารณะ

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีผู้เสนอแนะให้ กทม.หาแนวทางแก้ปัญหาการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดุและปัญหาสุนัข-แมวจรจัด รวมทั้งจัดระเบียบการให้อาหารนกในที่สาธารณะว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายการเเก้ปัญหาสุนัขเเละเเมวจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับองค์กรเเละมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง อาทิ ออกหน่วยสัตวเเพทย์เคลื่อนที่เชิงรุกผ่าตัดทำหมันสุนัข เเละเเมว ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างเเละสิ่งแวดล้อม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับกรมปศุสัตว์ออกหน่วยสัตวเเพทย์เคลื่อนที่เชิงรุกในโครงการปศุสัตว์ร่วมใจกำจัดภัยโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมรักสัตว์โอซีดี สำนักงานเขตคลองสามวา และกองสวัสดิภาพสัตว์กรมปศุสัตว์ แก้ไขปัญหาแมวจรจัดที่มีผู้เลี้ยงเป็นคนไร้บ้านใต้สะพานข้ามถนนระหว่างซอยนิมิตรใหม่ 38 - 40 รวมทั้งร่วมกับเพจเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักสัตว์นำแมวไปผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและนำกลับมาไว้ที่เดิม เพื่อพักฟื้นรอหาบ้านใหม่ รวมทั้งวางแนวทางแก้ไขทั้งคนไร้บ้านและสัตว์จรจัด และร่วมกับมูลนิธิเดอะโฮปไทยเเลนด์ ออกหน่วยลงพื้นที่แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขเเละเเมวจรจัด และสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนเเละสัตว์จรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ยังควบคุมการเลี้ยงสุนัขตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการควบคุมการเลี้ยง หรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 หมวด 3 การควบคุมการเลี้ยงสุนัข ข้อ 16 (1) (2) (3) กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษต้องเลี้ยงในสถานที่ หรือกรงที่สุนัขไม่สามารถเข้าถึงบุคคลภายนอก และมีป้ายเตือนอย่างชัดเจน มิให้ออกนอกสถานที่โดยปราศจากการควบคุมเเละดูเเลมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อจัดระเบียบการให้อาหารนกในที่สาธารณะ โดยให้สำนักงานเขตติดป้ายห้ามให้อาหารนกในที่สาธารณะ เพื่อขอความร่วมมือประชาชน และให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราและตักเตือน หากฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามมาตรา 25 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และตามมาตรา 54 ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท