In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมรองรับปรับโรคโควิด จากโรคติดต่ออันตรายเป็นต้องเฝ้าระวัง



 กรุงเทพฯ-สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม.เตรียมพร้อมรองรับปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมและแนวทาง การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของ กทม.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบันว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมความพร้อมและแนวทางของ กทม. ภายหลังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบพิจารณาปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านกฎหมายและสังคม ปรับสถานะโรคโควิด 19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทุกภาคส่วนส่งเสริมมาตรการ Universal Prevention (2) ด้านการสื่อสารสังคม ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของวัคซีน การจัดการเมื่อมีผู้ติดเชื้อในครอบครัว มาตรการบุคคลและองค์กร (Living with COVID-19) การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ (3) ด้านสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นมากกว่า หรือเท่ากับร้อยละ 60 (≥60%) ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วย และกักกันผู้สัมผัส และ (4) ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้งภาวะ Long COVID สถานพยาบาลเอกชน และคลินิก สามารถจัดหายาต้านไวรัสได้เอง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดราคากลาง แต่ต้องจัดซื้อจากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีกระบวนการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ ซึ่ง กทม.ได้เตรียมการจัดซื้อยาต้านไวรัส เพื่อให้บริการประชาชนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของ กทม.ไว้แล้ว

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ พร้อมปฏิบัติตามกรอบนโยบายการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้แก่ สามารถควบคุมการระบาดให้สถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรงน้อย โดยพิจารณาตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อวัน อัตราครองเตียงผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต สามารถเข้าถึงบริการวัคซีนและยาต้านไวรัสได้สะดวก และประชาชนมีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ตาม สำนักการแพทย์พร้อมดำเนินการให้โรงพยาบาลในสังกัด กทม.เตรียมการจัดหายาต้านไวรัส โดยใช้กระบวนการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ ขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมเรื่องเตียง การใช้ยาอย่างเหมาะสม และการฉีดวัคซีน รวมถึงให้โรงพยาบาลพิจารณาการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด