In Bangkok
'สก.ยื่นถามแนวทางรองรับผู้ป่วยชาวกรุง หลังสปสช.ยกเลิก9รพ.ของกทม.

กรุงเทพฯ-ส.ก.สอบถามแนวทางการเพิ่มศักยภาพสถานบริการเพื่อรองรับผู้ป่วย หลังสปสช.ยกเลิกสัญญากับรพ.
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง เปิดเผยว่า เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ยกเลิกสัญญาการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ของโรงพยาบาล 9 แห่งในพื้นที่กทม. ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ดังนั้นในการประชุมสภากทม.วันนี้ (28 ก.ค.65) จึงได้ร่วมเสนอญัตติเพื่อขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง ดูแลประชากรปฐมภูมิ จำนวน 2 แสนกว่าคน ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองได้รับผลกระทบต้องย้ายสิทธิการรักษาไปยังสถานพยาบาลคู่สัญญาแห่งอื่น ประชาชนเกิดความสับสนในการใช้บริการด้านการป้องกันรักษาโรคกับหน่วยบริการปฐมภูมิ เนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ชัดเจน รวมทั้งจะก่อให้เกิดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร การให้บริการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างล่าช้า ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาล และกรณีเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกกับโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาหน่วยบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการให้บริการด้านสาธารณสุข จึงขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมแผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัด การให้เคมีรักษา และผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่ต้องดูแลใกล้ชิด กทม.ได้เตรียมความพร้อมที่จะดูแลพี่น้องประชานเหล่านี้อย่างไร มีการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในแต่ละระดับแล้วหรือไม่ มีแผนรองรับที่ชัดเจนหรือไม่ และหากกทม.ได้เตรียมความพร้อมดูแลผู้ป่วยแล้วได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนให้ทราบโดยทั่วถึงอย่างไร” ส.ก.เขตดอนเมือง ได้ตั้งข้อสังเกตไปยังคณะผู้บริหารกทม.
นายพุทธิพชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ส.ก.เขตวังทองหลาง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นายกฤษฏ์ คงวุฒิปัญญา ส.ก.เขตภาษีเจริญ นางเมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม ได้สอบสอบถามแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลในพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ เขตพระโขนง ตลิ่งชัน ยานนาวา บางกอกใหญ่ และทุ่งครุ ที่ชัดเจน รวมถึงการช่วยประชาชนที่เปลี่ยนเป็นสิทธิ์ว่าง แนวทางการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ การเพิ่มศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วยที่จะมากขึ้น และความเป็นไปได้ของการนำระบบTelemedicine มาใช้
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า การปิด 9 โรงพยาบาล ส่งผลให้ประชาชนสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มประชากรปฐมภูมิ ที่เข้ารับการรักษาในเบื้องต้น จำนวน 220,313 ราย กลุ่มประชากรรับส่งต่อ จำนวน 696,103 ราย และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำนวน 22,246 ราย เป็นประชากรที่กระจายในทุกเขต ซึ่งโรงพยาบาลบางแห่งเป็นรพ.ปฐมภูมิ และบางแห่งเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อ โดยประชากรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สวนหลวง จอมทอง มีนบุรี ราษฎร์บูรณะ และวังทองหลาง ในส่วนของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ยกเลิกสัญญา ทั้งผู้ป่วยล้างไต หอบหืด จิตเวช ผู้ป่วยมะเร็ง สปสช.จะร่วมกับกทม.ในการแก้ไขปัญหา โดยจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยบัตรทองที่ลงทะเบียนมาใช้บริการต่อเนื่องประมาณ 3-4% จากจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด
ปัจจุบันประชากรที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์กับรพ.กทม. 9 แห่ง จำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยรพ.ทั้ง 9 แห่งมีจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 2,587 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยบัตรทองได้ 1,552 เตียง และสามารถรองรับผู้ป่วยบัตรทองได้อีกกว่า 516,227 ราย นอกจากนี้สำนักการแพทย์จะปรับปรุงพัฒนาบริการเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอกด้วยการใช้ระบบ Telemedicine และการตั้งหน่วยบริการปฐมภูมินอกโรงพยาบาล และการลดความแออัดผู้ป่วยนอก ด้วยการใช้ระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน Home Ward การให้คำปรึกษาผ่านระบบโทรเวชกรรม Tele Consult และการเพิ่มจำนวนเตียง
“บทบาทและอำนาจการพิจารณายกเลิกสัญญากับรพ.อยู่ที่สปสช.ทั้งหมด กทม.มีหน้าที่ในการเตรียมแนวทางการลดผลกระทบผู้ป่วยปฐมภูมิทั้ง 9 รพ. อย่างไรก็ตามสปสช.ได้พยายามขยายสัญญาเพื่อลดผลกระทบทั้ง 9 รพ. ซึ่งจะเป็นผลดีในช่วงเปลี่ยนผ่านให้กับประชาชน สำหรับในขณะนี้ผู้ป่วยสามารถไปรับการรักษาได้ทุกแห่ง รวมถึงผู้ป่วยในสามารถไปรับการรักษาที่รพ.ใดก็ได้หากจำเป็นต้อง Admit และหากไปแล้วรพ.ไม่รับ ก็สามารถติดต่อมารับบริการกับรพ.สังกัดกทม.ได้ทุกแห่ง หรือจะเลือกไปลงทะเบียนกับคลินิกอบอุ่น หรือศบส.ของกทม.ที่เปิดรับก็ได้” ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าว
นางดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลประชาชนในมิติของปฐมภูมิ ว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และคลินิกอบอุ่นของกทม. จะได้เร่งซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถลดผลกระทบกับประชาชน รวมทั้งลดขั้นตอนการคัดกรองเพื่อลดระยะเวลาการรอคอย และหากจำเป็นต้องส่งต่อได้ประสานเพื่อส่งต่อโรงพยาบาลได้ทุกสังกัด ดำเนินการเพิ่มห้องตรวจและจุดตรวจเพิ่มขึ้น และจัดสรรแพทย์จากศูนย์ฯ ที่ไม่ได้ผลกระทบไปยังศูนย์ฯ ที่มีผู้รับบริการมากขึ้น รวมถึงเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และเพิ่มระยะเวลาในการเปิดให้บริการนอกเวลาให้มากขึ้น นอกจากนี้จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบว่าคลิกนิคและศูนย์ฯ ของกทม.จุดใดที่ยังคงสามารถรับผู้ป่วยได้อีก เพื่อให้ประชาชนที่ยังได้ลงทะเบียนในจุดที่สะดวกที่สุด