In Bangkok

'จักกพันธุ์'กำชับผนึกกำลังเตรียมป้องกัน ปัญหาฝุ่นละอองPM2.5ในพื้นที่กทม.



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ประชุมการปัองกันและแก้ไขปํญหาฝุ่นละออง กำชับให้ผนึกกำลังเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

(29 ก.ย.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร  

“เมื่อหมดฤดูฝนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งของทุกปี กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ซึ่งฝุ่นจะเริ่มเข้ามาเมื่อปริมาณฝนลดน้อยลง ในขณะเดียวกันสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงจัดทำแผนในการลงพื้นที่โดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ตรวจสอบปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 ตลอดจนติดตามมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ตรวจแพลนท์ปูน ตรวจวัดควันดำรถยนต์ บริเวณอู่หรือท่าปล่อยรถ ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าว ไม่ให้เผาตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อช่วยกันลดมลพิษทางอากาศ” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว 

สำหรับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 16 แผนปฏิบัติการ ดังนี้ 1. วิจัยหาต้นเหตุ 2. นักสืบฝุ่น 3. การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น 4. การตรวจโรงงาน 5. การใช้ CCTV ตรวจจับรถปล่อยควันดำ 6. กลุ่มพัฒนาโครงการ/ผู้ประกอบการ 7. การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 8. Traffy Fondue 9. กิจกรรมสำนักงานเขตดำเนินการ 10. Open Data 11. การตรวจวัดรถควันดำ 12. รถราชการพลังงานไฟฟ้า 13. การตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง/แพลนท์ปูน 14. การตรวจวัดควันดำรถราชการ 15. การขยายระบบ 1,000 จุด และ 16. BKK Clean Air Area ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการ ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ สำนักอนามัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการศึกษา สำนักการคลัง สำนักการแพทย์ และสำนักงานเขต 50 เขต 

นอกจากนี้ จะปรับการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ระดับ 2 ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. และระดับ 4 ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 76 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มข้นของปฏิบัติการในแต่ละระดับให้สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การแจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ การให้ความรู้สำหรับปฏิบัติตัวในการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอกในการแก้ไขปัญหาและลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักงานเขต 50 เขต จัดทำบัญชีรายชื่อโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ รวบรวมข้อมูลส่งให้สำนักสิ่งแวดล้อม ส่วนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มอบหมายให้สำนักการโยธา รวบรวมข้อมูลส่งให้สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อให้สำนักงานเขตในพื้นที่กำกับดูแล ในส่วนของสำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสอบรถควันดำและแพลนท์ปูน ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หากสำนักงานเขตใดมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรม ให้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้เผาตอซังข้าว ส่วนการตรวจวัดควันดำรถยนต์ 4 ล้อขนาดเล็ก มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตในพื้นที่ ประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ลงพื้นที่ตรวจวัดควันดำ รวมถึงตรวจวัดระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ บริเวณอู่หรือท่าปล่อยรถในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้หน่วยงานดังกล่าวจัดทำแผนปฏิบัติการและรวบรวมข้อมูลบัญชีรายชื่อในส่วนที่รับผิดชอบส่งให้สำนักสิ่งแวดล้อมในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 

ในการประชุมวันนี้มี นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้อำนวยการเขต 50 สำนักงานเขต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักเทศกิจ สำนักอนามัย สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม