In Bangkok
'ชัชชาติ'ถกนิคมฯบางชันแก้น้ำท่วม-ฝุ่น ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนร่วมหนุนศก.เมือง

กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ หารือนิคมฯบางชัน น้ำท่วม -ฝุ่น PM 2.5 ดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจเมือง
(29 ก.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือกับนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อความร่วมมือในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ณ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี จากนั้นลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันและบริเวณโดยรอบ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมอัญธานีที่เขตประเวศ ซึ่งทุกแห่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจและแหล่งสร้างงานที่สำคัญของเมืองและประเทศ สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีพื้นที่อยู่ทั้งสิ้น 678 ไร่ โรงงานจำนวน 65 โรงงาน แรงงาน 15,000 คน เงินลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท มีนักลงทุนชาวไทย 55% จีน 25% ญี่ปุ่น 15% และอื่นๆ 5% ดังนั้นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากงานเป็นเรื่องสำคัญของเมือง ผู้ประกอบการที่สร้างงานจึงเป็นส่วนสำคัญของเมือง โดยนิคมอุตสาหกรรมบางชัน เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย และทางนิคมฯ ได้ให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องของน้ำท่วม
สำหรับพื้นที่นิคมฯ มีคลองสำคัญที่อยู่ในพื้นที่ ได้แก่ คลองแสนแสบ คลองหลอแหล และคลองบางชัน ซึ่งได้มีการสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำรอบพื้นที่นิคมฯ เพื่อป้องกันน้ำจากคลองแล้ว โดยเป็นเขื่อนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยาว 5.7 กม. เป็นเขื่อนของกทม. ยาว 2.5 กม. รวมถึงในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯเอง ก็มีสถานีสูบระบายน้ำฝนที่สามารถสูบน้ำได้ 16,800 ลบ.ม./ชม. ดังนั้นหากมีฝนตกหนักในพื้นที่ทางนิคมอุตสาหกรรมฯ อาจจะต้องใช้เวลาบ้างในการสูบน้ำออก แต่ทางนิคมอุตสาหกรรมยืนยันว่าสามารถรับมือได้แน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีฝนตกหนักปริมาณ 120-170 มม. ก็สามารถดำเนินการสูบน้ำออกได้ภายใน 2 ชั่วโมง จุดอ่อนจุดเดียวที่ยังมีปัญหาคือ ทางเชื่อมต่อบริเวณวัดบำเพ็ญเหนือกับตลาดขวัญเรียมซึ่งยังมีจุดฟันหลออยู่ ก็ได้แก้ไขปัญหาโดยการใช้แนวกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาคือการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือกับคนในชุมชนพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งทางนิคมฯ ก็สามารถบริหารจัดการได้ดีและได้รับความร่วมมือเนื่องจากคนในชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือคนที่ทำงานให้นิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ได้พูดคุยหารือร่วมกันคือการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมบางชันก็ได้มีการควบคุมปริมาณการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างเข้มข้น รวมถึงมีแผนป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมีการควบคุมปล่องระบายมลพิษทางอากาศของโรงงาน และในอนาคตกทม. จะขอความร่วมมือในการตรวจสอบมลพิษจากรถบรรทุกและรถขนส่งแรงงานที่เข้า-ออกบริเวณนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมบางชันไม่ใช่ต้นเหตุของการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงจะขอข้อมูลแบบ Real Time จากเครื่องมือตรวจจับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 จากปล่อง Boiler แต่ละปล่องของโรงงานผลิตไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้กทม. ได้รับทราบปริมาณการปล่อยปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ทันทีอีกด้วย
“วันนี้เป็นความร่วมมือที่ดี ต้องขอขอบคุณทางนิคมอุตสาหกรรม ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจของเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน การจ่ายภาษี ซึ่งกทม. และสำนักงานเขตพื้นที่ จะทำงานร่วมกันกับนิคมอุตสาหกรรม ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวถึงความร่วมมือ
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี นายประพันธ์ จินดาเลิศอุดมดี ที่ปรึกษาผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ นางสาวกังสดาล พงษ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นางลัดดาวัลย์ อ่อนกำปัง ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ว่าที่ร้อยตรีเกียรติชัย ภักดีรอด ผู้จัดการหน่วยงานบางชัน บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ผู้แทนบริษัท วันไทยอุตสาหกรรม จำกัด ผู้บริหารเขตคันนายาว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมด้วย