In Bangkok

กทม.เตรียมความพร้อมปรับโรคโควิด19 สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 



กรุงเทพฯ-เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 โดยคกก.โรคติดต่อ กทม. เตรียมความพร้อมปรับโควิด-19 สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 

(29 ก.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 โดยมีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และการประชุมผ่านระบบทางไกล 

ในที่ประชุมสำนักอนามัย ได้รายงานการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 57 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป การดูแลสถานการณ์โควิดหลังไม่มี ศบค. จะอยู่ภายใต้การดูแลจัดการของกระทรวงสาธารณสุข โดยเปลี่ยนผ่านจาก พรก.ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นผู้ดูแลในแต่ละระดับ 

สำหรับแผนการดำเนินงานด้านวัคซีน-19 เมื่อเข้าสู่ระยะ Post-pandemic เพื่อให้ประชาชนทุกคนในกทม. ได้รับวัคซีนด้วยความสมัครใจและครอบคลุม เตรียมรองรับการระบาดรวมถึงเชื้อกลายพันธุ์ ลดความรุนแรง เสียชีวิตในประชากรทุกกลุ่มอายุ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประชาชนทั่วไปควรฉีดอย่างน้อย 3 เข็ม (ควรรับเข็ม 4 เมื่อฉีดเข็ม 3 ครบ 4 เดือน) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ให้ได้รับวัคซีนเข็ม 2 มากกว่าร้อยละ 80 และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น มากกว่าร้อยละ 60 

คำแนะนำการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค สำหรับประชาชน องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน มีดังนี้ 1. ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น 2. ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย หรือมีความจำเป็น หน่วยงาน องค์กร คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีความจำเป็นอาจตรวจคัด ATK สำหรับพนักงานที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจได้ หรือข้อปฏิบัติของหน่วยงานกรณีที่มีความจำเป็น 

จากการประชุมกับกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กทม.จะเป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 8 จังหวัด ในการดำเนินการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง (Sentinel surveillance) ในระยะ post pandemic โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท ตามที่ได้วางแผนไว้ 400 ราย ต่อจังหวัดต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยแบ่งเป็นการดำเนินงานเฝ้าระวังในสถานพยาบาล (Hospital based) และการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ในชุมชน ประกอบด้วย ตลาด สถานบันเทิง (ผับ บาร์ คาราโอเกะ) และบ้านพักคนชรา สถานสงเคราะห์ผู้พิการ ทุพพลภาพ โดยสำนักอนามัยได้ดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเรียบร้อยแล้ว 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยให้ทาง กทม. สามารถดำเนินการควบคุมการแพร่โรคได้ดี ซึ่งอาจจะให้สำนักงานเขตเข้าไปตรวจตลาดอีกครั้ง ว่ามาตรการป้องกันควบคุมโรคยังเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ สิ่งที่เป็นห่วงคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาจากทั่วสารทิศ อาจจะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในโรงแรมที่พัก หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ยังต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด 

• โรคฝีดาษวานร ทั่วโลกแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ลดลง 

สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ทั่วโลกมีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ลดลง หลายประเทศพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตประปราย ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ย. 65 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 8 ราย ส่วนผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่กรุงเทพฯ มี 4 ราย ในพื้นที่เขตบางพลัด คลองเตย บึงกุ่ม และวัฒนา ไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องแต่ละราย และผู้ป่วยส่วนใหญ่อาชีพให้บริการ เดินทางกลับจากต่างประเทศ ปรับการสื่อสารเน้นให้ความรู้ในการป้องกันตนเองเฉพาะกลุ่ม ทั้งก่อนเดินทางและกลับจากต่างประเทศ เน้นรายงานโรคจากสถานพยาบาล และเสนอปรับระดับสถานการณ์เป็นการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยกรมควบคุมโรค 

• เร่งควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก 

ในส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออก กรุงเทพมหานครในปี 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ย. 65 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 2,654 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยอยู่ในลำดับที่ 10 ของอัตราป่วยเทียบกับทั้งประเทศ ส่วนแนวทางการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ร่วมควบคุมโรคบริเวณบ้านผู้ป่วยและรัศมี 100 เมตร ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย (กรณีเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน กรณีพบผู้ป่วยเสียชีวิต) สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และเฝ้าระวังผู้ป่วยเพิ่มเติมต่อเนื่อง 28 วัน เก็บตัวอย่างเลือดและส่งตรวจหาสายพันธุ์ (Serotype) ประสานสถานพยาบาลขอประวัติการรักษา และจัดประชุม Dead case conference ร่วมประเมินการดำเนินงานวินิจฉัยและรักษา ขอให้สถานพยาบาลรายงานข้อมูลผู้ป่วย (ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ที่เป็นปัจจุบัน) ให้ครบถ้วน และแจ้งสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่รับทราบว่าในพื้นที่มีผู้ป่วย ภายใน 3 ชั่วโมง ภายหลังผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย