In Bangkok
ประชุมศปถ.เขตให้ร่วมกันแก้ปัญหาจุดฝืด แก้ปัญหารถติดในพื้นที่50เขต

กรุงเทพฯ-รองปลัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) ครั้งที่ 5/2565 โดยมี สำนักการจราจรและขนส่ง 50 สำนักงานเขต ให้หลายหน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหาจุดฝืด แก้ปัญหารถติดในพื้นที่
(30 ก.ย. 65) นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขต (ศปถ.เขต) ครั้งที่ 5/2565 โดยมี สำนักการจราจรและขนส่ง 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ในที่ประชุมได้รายงานสรุปความคืบหน้าการแก้ไขจุดเสี่ยงของกทม.ปี 2565 ตามตัวชี้วัดบูรณาการร่วมของสำนักงานเขต สำนักการโยธา (สนย.) และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป้าหมาย 118 จุด สามารถทำได้ 104 จุด เป็นการเฝ้าระวังจุดของหน่วยงานภายนอก 8 จุด และอยู่ในแผนการดำเนินงานปี 2566 อีก 6 จุด สำหรับในปีถัดไป ทั้งนี้ สจส. จะบริหารจัดการจุดเสี่ยงบนท้องถนน 100 จุดเสี่ยง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางดี ปลอดภัยดี โดยเลือกจุดเสี่ยงอุบัติเหตุจาก Heat Map ใน 100 ลำดับแรกของคลัสเตอร์อุบัติเหตุ ความหนาแน่นของจุดเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้ข้อมูลของ iTIC และ ThaiRSC รวมทั้งพิจารณาจากจุดที่มีผู้บาดเจ็บ หรือมีผู้เสียชีวิตใน Risk Map ของ ThaiRSC เป้าหมายคือจำนวนอุบัติเหตุลดลง และความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลจุดเสี่ยงทั้ง 100 จุด ได้ทางเว็บไซต์ของสจส. www.bangkok.go.th/traffic/ หัวข้อ Open Data
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เน้นย้ำข้อสั่งการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกและการสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับการใช้ทางม้าลาย และรณรงค์การสวมหมวกนิรภัย 100% ให้เข้มข้นขึ้น โดยขอให้ศปถ.เขต ยกระดับและหามาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้ปกครองสวมใส่หมวกกันน็อกให้แก่บุตรหลานให้ครบ 100% รวมทั้งต้องกำหนดวิธีการประเมินผลที่ชัดเจนด้วย
ในส่วนของการรายงานผลการดำเนินงานของศปถ.50 เขต ประกอบด้วย การประชุมของศปถ.เขต การลงพื้นที่ร่วมกับสถานีตำรวจพื้นที่ Road Safety Audit สรุปกิจกรรมการมีส่วนร่วมสู่ถนนปลอดภัย เรื่อง หมวกกันน็อก เมาไม่ขับ ทั้งในกลุ่มคนทำงาน วัยรุ่น นักเรียน และชุมชน จากนั้นผู้แทน 6 กลุ่มเขต ได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขจุดที่มีการจราจรติดขัดบ่อยครั้ง (Friction Spot) ตามนโยบายเดินทางดี รถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด โดยกลุ่มเขตได้รายงานสภาพปัญหาจุดฝืดที่เป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด พร้อมเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการไปแล้วและแนวทางที่ต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น
“ปัญหาของจุดฝืด อาจจะมีหลายสาเหตุ หากแยกออกมาได้จะนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งหลายเขตน่าจะทราบดี ที่สำคัญต้องมีการประเมินผล ทั้งระยะเวลาและความถี่การประเมิน รวมถึงตัวชี้วัดที่กำหนดก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำงานเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยขอให้สจส.นำข้อเสนอแนะของทุกเขตมาประกอบการพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการ สำหรับการแก้ไขจุดเสี่ยงก็จำเป็นต้องกำหนดตัวชี้วัดให้เป็นไปตามนโยบายผู้ว่าฯ ด้วยเช่นกัน” รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าว