In Bangkok

กทม.เตรียมพร้อมการแพทย์-สาธารณสุข หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย กทม.เตรียมพร้อมมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกรุงเทพฯ ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขลดระดับโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังว่า แม้โรคโควิด 19 ลดระดับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังคงพบการแพร่ระบาดของโรค โดยมีความรุนแรงในบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนตามกำหนด ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย มีมาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย (1) การป้องกันโรค แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย ผู้ที่มีอาการน่าสงสัย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยติดเชื้อ แต่ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย เน้นมาตรการป้องกันสุขลักษณะส่วนบุคคล (D - M - H - T) และฉีดวัคซีนตามกำหนด ประชาชนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 2 เข็ม และฉีดเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรฉีดเข็มที่ 3 เว้นจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน และเข็มที่ 4 เว้นจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ส่วนวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับเด็ก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีน Pfizer สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน  - ต่ำกว่า 5 ปี (ฝาสีม่วงแดง) ทำให้ปัจจุบันมีวัคซีนครอบคลุมเกือบทุกวัยแล้ว (2) การเฝ้าระวังโรค ได้ปรับการรายงานโรค จากรายวันเป็นรายสัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.65 เป็นต้นไป รวมทั้งวางแผนเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ประกอบด้วย การเฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาล การเฝ้าระวังแบบคลัสเตอร์ การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงนอกโรงพยาบาล เช่น ตลาด สถานบันเทิง และการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ (3) การควบคุมโรค ผู้มีอาการป่วยควรปฏิบัติตามมาตรการ D - M - H - T คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และตรวจ ATK หากตรวจพบเชื้อจะต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 5 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ต้องกักตัว แต่ควรสังเกตอาการตนเอง 10 วัน สำหรับการสอบสวนโรคจะดำเนินการในกรณีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ และ (4) แนวทางการรักษา โดยในผู้ใหญ่จะใช้ยาต้านไวรัส ‘โมลนูพิราเวียร์’ เป็นหลัก ส่วนยา ‘ฟาวิพิราเวียร์’ จะใช้ในกรณีผู้ป่วยเด็ก หรืออาจใช้ในผู้ใหญ่กลุ่มสีเขียวที่เริ่มมีอาการ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัส ส่วนการรับรักษาในโรงพยาบาลจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 หากพบผู้ติดเชื้อในอัตราที่สูงขึ้น หรือในลักษณะกลุ่มก้อน จะควบคุมโรคให้อยู่ในระดับสถานการณ์เฝ้าระวัง หรือรุนแรงน้อย รวมทั้งมีแผนรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเข้มงวด