In Bangkok
กทม.เร่งตรวจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน น้ำหนุนท่วมบ้านเรือนซอยปิ่นเกล้า2

กรุงเทพฯ-สำนักงานเขตบางพลัดและสำนักการระบายน้ำ กทม.เร่งตรวจสอบแก้ปัญหาความเดือดร้อนน้ำหนุนท่วมบ้านเรือนในซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 2
นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กทม. กล่าวกรณีเจ้าของบ้านติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 2 หลังสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางยี่ขัน ตั้งข้อสังเกตพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาจมีรอยรั่ว รวมทั้งมีการถมคลองสร้างเป็นถนน โดยไม่ได้วางท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านรอยรั่วไม่มีทางออก บ้านเรือนประชาชนบริเวณดังกล่าวกลายเป็นแอ่งน้ำว่า สำนักงานเขตฯ ตรวจสอบบ้านเลขที่ 526 ถ.สมเด็จพระปิ่น 2 แขวงบางยี่ขัน และได้สอบถามผู้พักอาศัยทราบว่า ช่วงเวลาน้ำหนุนจะมีน้ำไหลทะลักเข้ามาในบริเวณบ้าน หลังจากน้ำลดจะยังมีน้ำขังอยู่ เนื่องจากบริเวณบ้านด้านที่ติดเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีรอยแยกบริเวณเขื่อน ทำให้น้ำไหลทะลักเข้ามา ผู้อยู่อาศัยเข้า-ออกบ้านไม่สะดวกและมีผู้ป่วยต้องออกไปพบแพทย์ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่จัดทำสะพานไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนในบ้านสามารถเข้า-ออกบ้านได้สะดวก ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งจัดทำท่อระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ระบายน้ำได้มากขึ้น
สำหรับลำรางหน้าบ้านที่ถูกถมเป็นถนน สำนักงานเขตฯ เคยตรวจสอบสภาพลำราง พบว่า มีสภาพตื้นเขิน เป็นทางเดินความกว้าง 3-4 เมตร ความยาว 168 เมตร เดิมประชาชนวัดดาวดึงษ์ ใช้เป็นเส้นทางเข้า-ออก โดยเดินผ่านหลัง สน.บางยี่ขัน แต่ปัจจุบัน สน.บางยี่ขัน สร้างรั้วปิด ทำให้ไม่สามารถเดินเข้า-ออกได้ ประชาชนจึงร้องขอให้สำนักงานเขตฯ ปรับปรุงถนนและทำท่อระบายน้ำ แต่บริเวณดังกล่าวยังเป็นลำรางสาธารณะ จำเป็นต้องถอนสภาพจากลำรางสาธารณะให้เป็นถนนสาธารณะก่อน จึงจะสามารถขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับปรุงบริเวณดังกล่าวและมีระบบระบายน้ำออกสู่ที่สาธารณะ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นชอบให้เปลี่ยนสภาพจากลำรางสาธารณะเป็นถนนสาธารณะ
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า บริเวณดังกล่าว กทม.ได้ปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงคลองแจงร้อน โดยเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นและปรับปรุงคุณภาพดินถมหลังเขื่อนด้วยวิธี Jet Mixing เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึม แต่มีบางแห่งที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน โดยบริเวณที่เกิดปัญหาน้ำรั่วไหลเป็นอีกแห่งที่ไม่ได้รับความยินยอม อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้น โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำที่ไหลเข้ามาในบริเวณดังกล่าวเป็นประจำทุกคืนโดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเหนือหลาก พร้อมจัดเจ้าหน้าที่หน่วยบริการเร่งด่วน (BEST) เข้าไปดูแล รวมทั้งจัดสร้างสะพานไม้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้อาศัยสามารถเดินเข้า-ออกจากบ้านได้สะดวกในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง และขุดร่องระบายน้ำ วางท่อระบายน้ำช่วยระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมจุดดังกล่าว กทม.ได้จัดเรียงกระสอบทรายอุดรอยรั่วซึม เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าและจะขอจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงแนวป้องกันน้ำท่วม โดยตอกเสาเข็มพืดเหล็กด้านหน้าเขื่อนเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถการป้องกัน น้ำท่วมอย่างถาวรต่อไป