In Bangkok
กทม.บูรณาการความร่วมมือกันเดินหน้า ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน

กรุงเทพฯ-สำนักการศึกษาและสำนักพัฒนาสังคม กทม.บูรณาการความร่วมมือเดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้ขับเคลื่อนการทำงานด้านยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด กทม. จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยาเสพติดให้โรงเรียนในสังกัด เช่น โครงการครูตำรวจ (ครู D.A.R.E.) จัดกิจกรรมให้การศึกษาต่อต้านการใช้ยาเสพติดแก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - 6 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด โครงการโรงเรียนกรุงเทพมหานครปลอดยาเสพติด สนับสนุนให้โรงเรียนในสังกัด กทม.มีครูและนักเรียนแกนนำ ดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUNBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน โดยร่วมกับสำนักอนามัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานเขต และโรงเรียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็ง การดำเนินงานชมรม TO BE NUNBER ONE 437 โรงเรียน และศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น
นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคมร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการ TO BE NUMBER ONE โดยมีการจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชนครบทั้ง 50 เขต จำนวน 203 ชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ประสานงาน ให้คำแนะนำ ส่งเสริมและสนับสนุนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในการจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชน และส่งชมรมฯ เข้าร่วมประกวดการนำเสนอผลงานชมรม TO BE NUMBER ONE ในชุมชนกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างกระแสค่านิยมและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจในกลุ่มเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พัฒนาศักยภาพและคุณภาพเยาวชนให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตนเอง สนับสนุนเยาวชนและชุมชนให้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยการสนับสนุนของสังคม สร้างความเข้าใจและยอมรับผู้มีปัญหายาเสพติด ให้โอกาสกลับมาเป็นคนดีของสังคม และเผยแพร่ความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มประชาชนและเยาวชนทั่วไป
ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการกองทุนแม่ของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 - 2565 เพื่อขยายพลังแห่งความดีของคนในชุมชนให้กว้างขวางขึ้น เสริมสร้างกระบวนการในชุมชนทั้งด้านความคิด ความรู้ การรวมกลุ่ม การตื่นตัว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติด เพื่อให้ชุมชนใช้กระบวนการดังกล่าวให้บรรลุถึงความเข้มแข็ง สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ สนับสนุนให้คนทำความดีและเสียสละเพื่อชุมชน สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ปัญหาพื้นฐานของชุมชนลดลง ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างยั่งยืน และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนทั้งภายในและระหว่างชุมชน โดยมีชุมชนได้รับพระราชทานเงินขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน 1,018 ชุมชน
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจะรับผู้สิ้นสุดการบำบัดรักษาที่สมัครใจและส่งต่อจากสถานพยาบาล สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การให้การสงเคราะห์ต่าง ๆ ให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา ทุนประกอบอาชีพ การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนติดตามดูแลช่วยเหลือให้กลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ