EDU Research & ESG

สดร.ชวนดูดาวหางC/2022 E3 (ZTF) คาดอาจมองเห็นด้วยตาเปล่า



ปราจีนบุรี-ได้รับแจ้งจากงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ชวนจับตาดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) (ซีสองศูนย์สองสอง อีสาม แซดทีเอฟ) ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566

วันนี้ 10 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่าได้รับแจ้งจากงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ชวนจับตาดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) (ซีสองศูนย์สองสอง อีสาม แซดทีเอฟ) ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในช่วงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ลุ้นชมด้วยตาเปล่าในคืนไร้แสงจันทร์รบกวน บริเวณพื้นที่มืดสนิท แนะนำชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) กำลังโคจรเข้าสู่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 12 มกราคม 2566 และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าช่วงดังกล่าวดาวหางจะมีส่วนหางที่ฟุ้งกระจายและส่องสว่างมากที่สุด และจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง อาจสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่า

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) คือวันที่ดวงจันทร์ไม่สว่างมาก เช่น วันที่ดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบาง ๆ หรือวันจันทร์ดับ (ข้างแรม 15 ค่ำ) ในเดือนมกราคมนี้ วันจันทร์ดับจะตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2566 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ฟ้าเปิดและไม่มีเมฆบัง เป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ ในวันดังกล่าวดาวหางจะอยู่ทางทิศเหนือ บริเวณกลุ่มดาวมังกร (Draco) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น พยายามสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ หรือ “ดาว” ดวงหนึ่งที่ไม่ได้คมชัดเช่นดาวดวงอื่น หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาช่วยสังเกตการณ์ จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อบันทึกภาพดาวหางดวงนี้ผ่านกล้องถ่ายภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ จะสามารถสังเกตเห็นหางและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหางดวงนี้ได้

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งในรอบใช้เวลาประมาณ 50,000 ปี ค้นพบในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 โดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility ในช่วงแรกวัตถุนี้มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ 17.3 ก่อนจะสว่างขึ้นจนนักดาราศาสตร์ทราบว่าเป็นดาวหาง และคาดกันว่าดาวหางดวงนี้อาจมีค่าอันดับความสว่างสูงสุดถึง 6 ซึ่งเป็นค่าอันดับความสว่างปรากฏที่ตามนุษย์สามารถเริ่มมองเห็นวัตถุได้ นับเป็นดาวหางดวงแรกที่มาเปิดศักราชในปี 2566

มานิตย์   สนับบุญ / ปราจีนบุรี