Travel Sport & Soft Power
'ศักดิ์สยาม'รับลูกท่าเรือสำราญเกาะสมุย สั่งเจ้าท่าเร่งสร้าง/ชี้ผลศึกษาเสร็จมี.ค.นี้
สุราษฎร์ธานี-ศักดิ์สยาม รับลูกสั่งกรมเจ้าท่า เร่งโครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญ ศึกษาเสร็จ มี.ค.นี้ มีทั้งท่าเรือสำราญ เรือยอร์ช เรือเฟอร์รี่
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสถานการณ์ท่องเที่ยวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฟื้นตัวและมีเรือสำราญกว่า 15 ประเทศทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลางฯลฯจองคิวล่วงหน้าจะเดินทางมาเยือนในปี 2566-2568 รวมทั้งหมดเกือบ 100 ลำ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเยือนเกาะสมุยปีละกว่าแสนคน นำรายได้เข้าประเทศมหาศาล แต่มีปัญหายังไม่มีท่าเทียบเรือสำราญรองรับให้เรือเข้าเทียบได้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ให้กรมเจ้าท่า เร่งโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย
ล่าสุดนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกาะสมุยยังไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรือสำราญที่ต้องการเทียบท่าที่เกาะสมุยจึงต้องทอดสมอบริเวณหาดหน้าทอนและให้นักท่องเที่ยวโดยสารเรือเล็กเพื่อขึ้นชายฝั่ง โดยมีนักท่องเที่ยวเพียงประมาณ 50% ที่ลงจากเรือสำราญเพื่อขึ้นชายฝั่ง ซึ่งการพัฒนาท่าเทียบเรือจะเป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญที่เกาะสมุย มีความคืบหน้าจาก กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษางบประมาณปี 2563-2565 เพื่อทำ PPP(การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership)
นายสรพงศ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการท่าเรือสำราญเกาะสมุย เป็นโครงการตามทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด อยู่บริเวณทางตอนใต้เกาะสมุย ที่แหลมหินคม งานศึกษาจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม 2566 นี้ ซึ่งจะนำเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นชอบก่อนเสนอ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการในรูป PPP ต่อไป โดยขอบเขตการดำเนินงาน ได้แก่ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร มีพื้นที่อย่างน้อย 7,200 ตารางเมตร และรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง ตัวอาคารรองรับและส่งเสริมการใช้งานของอาคารโดยสารให้มีกิจกรรมได้ตลอดทั้งปี อาทิ ห้องประชุม ร้านขายของที่ระลึก และร้านอาหาร
“ สะพานขึงต้องมีความกว้าง 40 เมตร และยาว 445 เมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารและพื้นที่หลังท่าที่มีอาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารจำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านอาหาร และอาคารบริการ โดยสะพานขึงสร้างขึ้นเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อซากปะการังที่อยู่บริเวณใต้สะพาน สำหรับท่าเรือที่จะให้บริการแบ่งออกเป็น ท่าเรือเฟอร์รี่ (ทางเลือก) เพื่อให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปและกลับจาก จ.สุราษฎร์ธานีและ จ.นครศรีธรรมราช (จอดเรือได้สูงสุด 6 ลำ) ท่าเรือยอร์ช (ทางเลือก) จะมีท่าเทียบเรือที่ทันสมัย รองรับเรือยอร์ช ได้ถึง 80 ลำ ผู้ลงทุนสามารถออกแบบได้ใหม่เพื่อให้บริการเรือยอร์ช ได้หลากหลายประเภทมากขึ้นโดยรูปแบบอาคารบริการต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมเจ้าท่า เพื่อรองรับกิจกรรมทั้งหมด ทั้งท่าเทียบเรือสำราญ ท่าเรือเฟอร์รี่และท่าเรือยอร์ช ” นายสรพงศ์ กล่าว
นายสรพงศ์ กล่าวอีกว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ landing pier ที่จะรองรับเรือสำราญ cruise ที่จะเข้ามาทิ้งสมอบริเวณใกล้ท่าเรือหน้าทอน ตามงบปี 2564-2566 เพื่อก่อสร้างท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวก ในการรองรับการขนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือ cruise ขึ้นฝั่งได้อย่างเป็นระเบียบ รวดเร็วและปลอดภัย ขอบเขตงาน ประกอบไปด้วย 1.ก่อสร้างที่พักคอยรองรับผู้โดยสาร ขนาด 30 x 60 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,800 ตารางเมตร 2. ก่อสร้างสะพานทางเดิน ขนาด 5 x 152 เมตร พื้นที่ประมาณ 760 ตารางเมตร 3. ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 x 20 เมตร จำนวน 8 ชุด พื้นที่ประมาณ 640 ตารางเมตร 4. ติดตั้งเสากันกระแทก และยางกันกระแทกโดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566