In Thailand
อ.กุดบากผนึกกำลังราชภัฏและ7ภาคีเครือข่ายแก้จนชาวบ้านเชิงรุก
สกลนคร-อำเภอกุดบากผนึกกำลังราชภัฏและ7ภาคีเครือข่ายขยายผลการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจนสู่นักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ปัญหาปากท้องรายได้ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและผันผวน
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอกุดบาก จ.สกลนคร นายสมเจตน์ พิมพานนท์ นายอำเภอกุดบาก พร้อมด้วย ดร.วินิธา พาณิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ ม.ราชภัฏสกลนคร พระมหากฤษณะ จารุวรรณโณ วัดป่าคูณคำวิปัสนา อ.กุดบาก จ.สกลนคร จัดกิจกรรมเปิดตัวนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่แบบบูรณาการความร่วมมือ อำเภอกุดบาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และ 7 ภาคีเครือข่ายภายใต้การดำเนินโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งอำเภอกุดบาก
ด้วยเป้าหมายโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ที่เน้นการพัฒนานักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents for Strategic Transformation: CAST) ในระดับอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น 2) เสริมสร้างการมีส่วนร่วม 3) สร้างคุณค่าต่อสังคม และ 4) ยกระดับการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน โดยนายอำเภอได้ปรับบทบาทหน้าที่สู่หน่วยบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนและเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านพันธกิจร่วมในแต่ละภาคส่วน โดยภาคีนำร่องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดังนี้ 1) เทศบาลตำบล 2) เกษตรอำเภอ 3) สาธารณสุขอำเภอ 4) ปศุสัตว์อำเภอ 5) พัฒนาการอำเภอ 6) องค์กรสตรี 7) องค์กรศาสนา และ 8) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
จากการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของฐานข้อมูล TP-MAP จปฐ. ThaiQM และฐานข้อมูลงานวิจัยโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ในอำเภอกุดบาก ร่วมกับการเปิดเวทีด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 หมู่บ้านตำบลนำร่อง ดังนี้ 1) บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 9 ตำบลกุดบาก 2) บ้านนาขาม หมู่ที่ 9 ตำบลนาม่อง และ 3) บ้านกุดไห หมู่ 11 ตำบลกุดไห พบว่าสภาพปัญหาหลักคือปัญหาปากท้องและรายได้ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและผันผวน สภาพภูมิอากาศแปรปรวน รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายเกิดวงจรหนี้สิน และกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในครัวเรือน
จากสถานการณ์ดังกล่าวสู่การขยายผลการทำงานร่วมกันกับนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ดังนี้ 1) วิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 2) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ 3) คณะกรรมการหมู่บ้านและตำบล จำนวน 100 คน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการทำงานในระดับพื้นที่แบบ “สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน” เสริมพลังให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นเพื่อนร่วมคิดมิตรร่วมทาง สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างครัวเรือนตัวอย่าง สร้างความยั่งยืนในระดับหมู่บ้านสู่หมู่บ้านยั่งยืนต่อไป จนสามารถแก้ไขปัญหาปากท้อง ความทุกข์และความยากจนของประชาชนในพื้นที่ได้ด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน
โดยมีกิจกรรมกิจกรรมปลูกดอกทานตะวัน 999 ต้น ปรับปรุงดินด้วยเมล็ดพันธุ์ปอเทือง และสร้าง ความสามัคคีแบบบูรณาการความร่วมมือด้วยการพัฒนาพื้นที่โคกหนองนา ณ ที่ว่าการอำเภอกุดบาก
ศักดา ดวงสุภา / สกลนคร