EDU Research & ESG

NTAปักหมุดเปิดโอกาสเข้าถึงนวัตกรรม เมืองรองยกระดับรายได้ประเดิม'พัทลุง'



เอ็นไอเอปักหมุดสร้างโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมในพื้นที่เมืองรอง ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ประเดิม “พัทลุง” โลเคชันแรกผ่านโมเดล “เขา ป่า นา เล”ดึงอัตลักษณ์ “ปลาลูกเบร่” เพิ่มคุณค่าใหม่ให้การท่องเที่ยว·ส่องนวัตกรรมเลี้ยงปลาลูกเบร่ พร้อมเส้นทางท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ให้ฟีลโลคอลตลอดรู้ท

กรุงเทพฯ 27 กุมภาพันธ์ 2566 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตระดับท้องถิ่น - กลุ่มเมืองรอง ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่ตรงกับบริบทเมือง โดยล่าสุดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวอย่างความสำเร็จพื้นที่ทดลองใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแห่งแรกของจังหวัดพัทลุง เมืองแห่งอัตลักษณ์ด้านอาหาร วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ภายใต้แนวคิด “เขา ป่า นา เล” โมเดล พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ปัญหา 4 ส่วน ได้แก่ 1) การสำรวจเส้นทางอพยพของปลาลูกเบร่ 2) การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อปิดแห่งแรกในประเทศไทย 3) การยกระดับกระบวนการผลิตปลาลูกเบร่อบแห้งรูปแบบเดิมให้เป็นโรงอบแห้งปลาลูกเบร่แบบไฮบริด โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนจากไฟฟ้าด้วยระบบแสดงผลการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดการปนเปื้อน เพิ่มความสามารถด้านการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ให้ได้ราคาสูงขึ้น และ 4) การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่” โดยอาศัยผลการศึกษาจากเครื่องมือด้านอนาคตศาสตร์เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดพัทลุง

image.png

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในพื้นที่ จึงได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อนำเครื่องมือ “การมองอนาคต (Foresight)” มาร่วมวิเคราะห์หาจุดเด่นและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ ความไม่แน่นอนที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และการบ่งชี้สัญญาณความเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยวางแผนและกำหนดนโยบายด้านนวัตกรรมให้ตรงตามบริบทเมืองและวิถีชีวิตของประชากร โดยได้นำร่องในจังหวัดพะเยา พัทลุง กาฬสินธ์ และสตูล

“NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมดำเนินโครงการศึกษาภาพอนาคตแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมโดยอาศัยเกณฑ์ของเนื้อที่ในการปลูก ปริมาณการเลี้ยง และมูลค่าของชนิดเกษตรกรรมมาจัดลำดับ เพื่อหาอัตลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง พื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์รวมของคำว่า ภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนา ทะเล แหล่งทรัพยากรที่นอกจากจะสร้างวิถีชีวิตให้กับคนในพื้นที่ ยังเป็นโอกาสที่จะสร้างให้พื้นที่นี้เกิดสิ่งใหม่ๆ ทั้งการลงทุน การพัฒนาความรู้ หรือแม้แต่เป็นจุดศูนย์กลางทางนวัตกรรมที่จะพัฒนาชีวิตของคนในจังหวัดให้ดียิ่งขึ้น”

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาอนาคตพัทลุง จึงถูกนำมาต่อยอดการศึกษาฐานข้อมูลเชิงลึกด้านนวัตกรรมการเกษตรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ภายใต้แนวคิด “เขา ป่า นา เล” ที่ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อทำให้เกิดเป็นต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรที่จะยกระดับให้จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่นวัตกรรมได้ในอนาคต สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนและเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2565 “โซนเล” เป็นโซนที่ได้รับเลือกและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ทดลองการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ได้จากการต่อยอดภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวิถีชีวิตของคนพัทลุง ในเรื่องการประมง การเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่”

สำหรับ “ปลาลูกเบร่” เปรียบเสมือนทูตระบบนิเวศทางทะเลของพื้นที่ปากประ เนื่องจากเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวต่อมลภาวะทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำและความสะอาดของแหล่งน้ำ ปลาลูกเบร่เป็นปลาที่มีขนาดเล็กมากของห่วงโซ่อาหาร แต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงต่อเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้ การเลือก “โซนเล” เป็นพื้นที่ทดลองการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่” ก่อให้เกิดการจัดการนวัตกรรม 3 ส่วน ได้แก่ 1) “เขา ป่า นา เล” โมเดล ทำให้อัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดพัทลุงเกิดความโดดเด่น โดยส่งเสริมให้ปลาลูกเบร่เป็นตัวละครในการบอกเล่าเรื่องราวของโซนเล 2) การใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขยายผล สร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ โดยมิใช่การท่องเที่ยวที่พึ่งพาธรรมชาติเพียงอย่างเดียว และ 3) การทำให้ท่องเที่ยวชุมชนมีมาตรฐาน ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์ที่ดี และส่งเสริมให้เกิดการสร้างแบรนด์จังหวัดพัทลุงให้เป็นที่รู้จักในกว้าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ อธิบายว่า จังหวัดพัทลุงเป็นเมืองเกษตรและเมืองแห่งอัตลักษณ์ในเรื่องอาหาร วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้นักเดินทางเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตคนริมคลองปากประ กินอาหารถิ่น ชมนก และฝูงควายน้ำทะเลน้อยกันมากขึ้น ทำให้ปลาลูกเบร่ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นของทะเลน้อยที่เข้ามาสู่คลองปากประและคลองสายเล็กๆ มีจำนวนลดลงอย่างมาก รวมถึงปัญหาการแปรรูปปลาลูกเบร่อบแห้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะดั้งเดิมจะเป็นการตากปลาลูกเบร่บนอวนบริเวณริมถนนแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงขายทำให้มีการปนเปื้อน สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชนจึงเลือกเอาปลาลูกเบร่มาเป็นหัวใจหลักในการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยง การแปรรูปให้มีคุณค่าสูงขึ้น อีกทั้งช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย

“พื้นที่ทดลองใช้นวัตกรรมเกษตรโซนเล ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านชายคลองปากประ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปดำเนินงานช่วยแก้ปัญหา 4 ส่วน ได้แก่ 1) การสำรวจเส้นทางอพยพของปลาลูกเบร่ด้วยระบบแผนที่ภูมิศาสตร์ GIS เพื่อวัดพิกัดและติดตามการเคลื่อนย้ายของฝูงปลาลูกเบร่ 2) การเพาะเลี้ยงปลาลูกเบร่ในบ่อปิดแห่งแรกในประเทศไทย 3) การยกระดับกระบวนการผลิตปลาลูกเบร่จากรูปแบบเดิมให้เป็นระบบ IOT เพื่อเชื่อมข้อมูลการแปรรูป ความชื้น อุณหภูมิ เวลาในการอบเข้าสู่ระบบคลาวด์ รายงานผลแบบเรียลไทม์ และสามารถเก็บเป็นข้อมูลสำหรับปรับปรุงกระบวนการแปรรูปต่อไป ส่วนขั้นตอนการผลิตจะเปลี่ยนเป็นการใช้ยอยักษ์จับปลาลูกเบร่ขึ้นมา จากนั้นนำมาคลุกเกลือและตากแห้งด้วยระบบความร้อนแสงอาทิตย์ ร่วมกับระบบลมร้อนภายในตู้อบแห้งพาราโบล่าที่มีระบบตรวจวัดอุณหภูมิและดูดความชื้น ทำให้ปลาลูกเบร่อบแห้งได้เร็วขึ้น ลดการปนเปื้อน จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ราคาสูงขึ้น ก่อเกิดรายได้กลับเข้าชุมชนได้มากยิ่งขึ้น และ 4) การยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิด “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: ตามหาปลาลูกเบร่”

นอกจากนี้ “อาหารพื้นถิ่น” ยังเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยสร้างประสบการณ์และความประทับใจให้กับผู้มาเยือนได้ NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมจึงได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนตะโหมดในการพัฒนา “แอปพลิเคชันบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิต “ปิ่นโตร้อยสาย” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดรูปแบบการให้บริการปิ่นโตอาหารแบบเดิมตั้งแต่ปี 2546 ให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การรับคำสั่งซื้อที่ลูกค้าสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโทรศัพท์หรือการติดต่อผ่านหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ การผลิตปิ่นโตอาหาร ที่นอกจากจะเน้นความชำนาญตามแหล่งวัตถุดิบของชุมชนแล้ว ยังเพิ่มเติมการจับคู่กับความเชี่ยวชาญของผู้ผลิตที่มีคะแนนความพึงพอใจของลูกค้า การจัดส่งสินค้า ที่สามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางและการจัดส่งผ่านแชทบอท รวมถึงการวัดความพึงพอใจ และการตรวจสอบคุณภาพอาหารย้อนกลับ “ปิ่นโตร้อยสาย” ถือเป็นแนวคิดที่สร้างประโยชน์ให้คนในชุมชนในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน