EDU Research & ESG

เปิดมหกรรม'ฟื้นใจเมือง'ศก.สร้างสรรค์ บนฐานวธ.ดั้งเดิมชุมชนไทลื้อเมืองพะเยา



พะเยา-หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดงานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง”ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมชุมชนไทลื้อ จังหวัดพะเยา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) และดร.สีลาภรณ์ บัวสาย อดีตคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และอดีตกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมพิธีเปิด ณ ข่วงวัฒนธรรม สวนสุขภาพ 100 ปี อ.เชียงคำ จ.พะเยา

มหกรรม  “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” จังหวัดพะเยา เป็นมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่ปริทรรศน์คุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาพื้นที่จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) ในการจัดกิจกรรม ณ อำเภอเชียงคำ ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม โครงการฟื้นใจเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน และโครงการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนและการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีและสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ และร่วมกันฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมให้เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำหรับเป็นศูนย์รวมการค้าขายและพบปะของผู้คนในชุมชน อันนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมในพื้นที่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า มหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับและฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนไทลื้อดั้งเดิม เพื่อสืบสานและเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับรู้มากยิ่งขึ้น เป็นโครงการสำคัญที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างร่วมกับคนในชุมชนไทลื้อ และนำเสนอวัฒนธรรมอันสวยงามสู่ระดับประเทศและระดับโลกต่อไป

มหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” จังหวัดพะเยา นำเสนอทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนไทลื้อ 5 หมู่บ้าน ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และทุนทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อได้เป็นอย่างดี กิจกรรมพิเศษในพิธีเปิด อาทิ

การเดินขบวนแห่ครัวทาน

ขบวนพาเหรดที่จะนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมผ่านการแต่งกายชุดไทลื้อสร้างสรรค์ และการแห่ครัวทาน ซึ่งเป็นประเพณีของทางภาคเหนือ โดยเชื่อว่าเมื่อพ้นการทำนาแล้วชาวบ้านก็จะมุ่งทำบุญมีการบูรณะวัด ถ้าหมู่บ้านใดบูรณะวัดเรียบร้อยแล้ว ก็นิยมบอกบุญไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ให้มาช่วยทำบุญฉลอง

โชว์สุดพิเศษจากศิลปินแห่งชาติ “วินัย พันธุรักษ์”

นับว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานในพิธีเปิดครั้งนี้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณวินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ขับร้อง-เพลงไทยสากล) หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งวงดิอิมพอสซิเบิล

ศิลปะการเต้นสิงโตและเต้นนางนก

"การเต้นสิงโตและเต้นนางนก" ของชาวไทลื้อเชียงคำ จะมีรูปแบบคล้ายๆ "การเต้นโตและนกกิงกะหรา" ของชาวไทใหญ่ แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดในท่วงท่าลีลาการร่ายรำและลักษณะของตัวสิงโตของชาวไทลื้อเชียงคำจะประกอบด้วยหัวที่มีหงอนเแบบหงอนไก่ มีเขาและหูเป็นกวาง ปากเป็นเป็ด ตัวเป็นขนแบบตัวบุ้ง และมีหางเป็นกระต่าย ส่วนลักษณะของตัวนางนกจะเป็นรูปแบบที่สืบสอดและพัฒนามาจากนางนกของสิบสองปันนา มักจะใช้แสดงในงานเฉลิมฉลอง งานบุญ เปรียบเสมือนสัตว์หิมพานออกมาร่ายรำ สะท้อนถึงเอกลักษณ์ตามแบบฉบับและวิถีชีวิตของชุมชนชาวไทลื้อเชียงคำได้เป็นอย่างดี

การนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงพื้นบ้าน ผ่านการแสดงดนตรีจากม.พะเยา วงดนตรีพื้นเมือง การขับลื้อ และการฟ้อนกิจกรรมวาดลวดลายรูปสัตว์จากศิลปิน ได้รับเกียรติจาก อ.ชลิต นาคพะวัน ที่จะมาแสดงฝีมือการวาดภาพลวดลายสัตว์รถรางนำเที่ยว…สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตชุมชนไทลื้อ หมู่บ้าน

สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนไทลื้อ 5 หมู่บ้าน ผ่านการนั่งรถรางเยี่ยมชมย่านชุมชนต่าง ๆ ที่จะนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละมิติ ด้วยรถรางนำเที่ยว ผ่านพื้นที่ต่างๆของชุมชนไทลื้อทั้ง พื้นที่บ้านหย่วน โดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรมวิหารไทลื้อ วัดหย่วน และกิจกรรมสาธิตการทอผ้าปั่นฝ้าย พื้นที่บ้านดอนไชย การทำกาละแมโบราณ และร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน พื้นที่บ้านธาตุสบแวน ชมภาพจิตรกรรมไทลื้อและสถาปัตยกรรมเฮือนไทลื้อ กิจกรรมสาธิตทำตุงสกรีนลาย พื้นที่บ้านธาตุ กิจกรรมเวิร์คช้อปจากร้านค้าชุมชน สาธิตการทำขนมปาด และสามารถเดินเล่นต่อได้ที่กาดกองน้อยซอย 6 พื้นที่บ้านมาง พื้นที่ส่วนกลางในการจัดกิจกรรมและการแสดงต่าง ๆ อาทิ เต้นโต ขบวนครัวทาน กิจกรรมสาธิตมวยผมและถ่ายรูปชุดพื้นเมือง การขับลื้อ การแสดงพื้นเมือง