In Global

การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจจีน-อาเซียน ซีจีเอสเน้นร่วมมือขับเคลื่อนจีน-อาเซียน



สิงคโปร์, 17 มีนาคม 2566-การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจจีน-อาเซียนของซีจีเอส (CGS China-ASEAN Business Leaders Summit) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยบริษัทไชน่า กาแล็กซี ซีเคียวริตีส์ (China Galaxy Securities) หรือซีจีเอส (CGS) ร่วมกับบิสซิเนส ไชน่า (Business China) สมาคมวิสาหกิจจีนประจำสิงคโปร์ (China Enterprises Association (Singapore)) และธนาคารซีไอเอ็มบี (CIMB) ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566

การประชุมดังกล่าวใช้ระยะเวลา 2 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมและผู้บรรยายเกือบ 1,000 คน รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐบาลและธุรกิจกว่า 450 แห่งจาก 20 ประเทศ ผู้นำทางความคิดจากองค์กรชั้นนำและผู้กำหนดนโยบายของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในเอเชียแปซิฟิก มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจ เช่น แนวโน้มการลงทุนจีน-อาเซียน ภาพรวมการผลิตในเอเชีย การลดก๊าซคาร์บอน และการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงโอกาสในการลงทุนตามหลักชะรีอะฮ์และรับผิดชอบต่อสังคม (SRI) ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น

การทำงานร่วมกันและความสามารถในการปรับตัวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่อการผลักดันความสำเร็จและการเติบโตในภาคการเงินของเอเชียแปซิฟิก ผู้บรรยายเน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบที่เสริมกันในวงกว้าง ซึ่งจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยกระชับความร่วมมืออย่างลึกซึ้งสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตขั้นสูงและการลดก๊าซคาร์บอน แม้การกลับมาเปิดประเทศของจีนและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคอาเซียนจะมีศักยภาพสูง แต่ความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดโลกและภูมิภาคจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาว

แขกผู้ทรงเกียรติที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ฯพณฯ ดร.เก้า กึม ฮอน (Kao Kim Hourn) เลขาธิการอาเซียน และนายเตงกู ซาฟรุล อาซิซ (Tengku Zafrul Aziz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (มาเลเซีย) โดยวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายเฉิน เหลียง (Chen Liang) ประธานบริษัทไชน่า กาแล็กซี ซีเคียวริตีส์ จำกัด, ดร.ฉี บิน (Qi Bin) รองประธานบริหาร บริษัทการลงทุนแห่งชาติจีน (China Investment Corporation) หรือซีไอซี (CIC) และคุณฉิว ไอจุน (Qiu Aijun) รองอธิบดีศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายเฉิน เหลียง กล่าวถึงโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road initiative) การปรับปรุงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การเร่งสร้างท่าข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbour) และผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าจะนำมาซึ่งโอกาสและศักยภาพทางธุรกิจที่มากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียนเติบโตต่อไป เขาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับทั้งสองภูมิภาค โดยสามารถร่วมมือกันในภาคส่วนที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การผลิตขั้นสูง พลังงานใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบูรณาการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่า โดยเพิ่มความต้องการขององค์กรในการลงทุนข้ามพรมแดนและการจัดหาเงินทุน

ดร. เก้า เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งระหว่างอาเซียนกับจีน โดยระบุว่าข้อตกลงต่าง ๆ เช่น หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน-จีน (ASEAN-China Comprehensive Strategic Partnership) ยังคงเป็นแรงผลักดันหลักสำหรับการค้าและการลงทุนร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค อาเซียนและจีนกำลังกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาเซียนในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ อีคอมเมิร์ซ และความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำหรับโอกาสในการเติบโตทางดิจิทัล

นายเตงกู ซาฟรุล อาซิซ พูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของเอเชีย โดยระบุว่าการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์นี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความร่วมมือในอนาคต จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนและเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของมาเลเซีย นายเตงกูจึงแสดงถึงความพร้อมของมาเลเซียในการสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนด้วยกลุ่มบุคลากรที่มีทักษะความสามารถหลายภาษา เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในระดับภูมิภาค

ดร.ฉี บิน ได้แชร์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของการแพร่ระบาด รากฐานทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของจีนและฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ได้ช่วยสร้างจีนให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่สำหรับการผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดที่น่าดึงดูดอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจระดับโลกอีกด้วย ดร.ฉีเน้นย้ำถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ซึ่งปัจจุบันเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกัน ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมทำให้อาเซียนเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับบริษัทจีนในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากประชากรจำนวนมากของอาเซียน

คุณฉิว ไอจุน กล่าวถึงวิธีที่จีนพยายามสนับสนุนอาเซียนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ผ่านความร่วมมือทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นและโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง การเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ในอนาคตและการคงไว้ซึ่งนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน สิ่งนี้จะช่วยให้แลกเปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถ ผลิตภัณฑ์ และความรู้ทางเทคโนโลยีได้อย่างราบรื่น ในระหว่างกระบวนการนี้ คุณฉิวคาดหวังว่าธุรกิจ SME จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไป และกลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญในจีนและประเทศอื่น ๆ