In Bangkok

กทม.ผนึกกำลังหลายหน่วยงานแก้ปัญหา เยาวชนกลุ่มNEETอย่างยั่งยืน



กรุงเทพฯ-(22 มี.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีเปิดการนำเสนอผลการศึกษา "งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย" โดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงแรงงาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องสุรศักดิ์ บอลรูม 1 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร ซึ่งในการนี้ นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ปัจจุบันเยาวชนจำนวนมากในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทั้งเรื่องการสำเร็จการศึกษา การเปลี่ยนผ่านจากระบบการศึกษาเข้าสู่การทำงาน หรือการหางานที่ดี ดังจะเห็นได้จากจำนวนเยาวชน (อายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี) ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ซึ่งข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเยาวชนไทยจำนวน 1.4 ล้านคนจัดอยู่ในกลุ่ม NEET โดยจากเยาวชนชายและหญิงทั้งหมดที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี พบว่ามีเยาวชนชาย NEET ร้อยละ 10 และเยาวชนหญิง NEET ร้อยละ 19 

นอกจากนี้ จำนวนเยาวชนในกำลังแรงงานก็ลดลงจากเดิม 4.8 ล้านคนในปี 2554 เหลือ 3.7 ล้านคนในปี 2564 และมีอัตราการว่างงานเยาวชนเพิ่มขึ้น โดยอัตราการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาสที่สองของปี 2564 มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีว่างงานมากถึง 290,000 คน

การที่เยาวชนในประเทศไทยเป็น NEET เพิ่มมากขึ้นนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่น่ากังวล เยาวชน NEET มีความเสี่ยงสูงที่จะยากจนและถูกกีดกันทางสังคม เนื่องจากเยาวชนเหล่านี้มักขาดวิธีการพัฒนาทักษะและความสามารถของตน ปัญหา NEET ยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขัดขวางความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาโอกาสในการจ้างงาน การศึกษา และการฝึกอบรม ตลอดจนการส่งเสริมให้สังคมยอมรับเยาวชนด้อยโอกาสจึงเป็นนโยบายที่มีความสำคัญสำหรับรัฐบาลไทยหากประเทศไทยต้องการพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

การแก้ปัญหาช่องว่างด้านข้อมูลเกี่ยวกับเยาวชน NEET เป็นก้าวแรกในการพัฒนานโยบายการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมและเจาะจงที่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ  แต่ทว่า NEET มิใช่ประชากรที่เป็นกลุ่มที่มีลักษณะร่วมกัน กล่าวคือ ประชากรกลุ่มนี้ประกอบด้วยเยาวชนที่ต้องออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด เยาวชนว่างงานที่กำลังหางานทำ เยาวชนที่นิ่งเฉยหรือท้อแท้ ตลอดจนเยาวชนที่อยู่นอกตลาดแรงงานด้วยสาเหตุอื่น เช่น ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลครอบครัว แม่วัยรุ่น หรือเยาวชนผู้พิการ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกันเพื่อแก้ปัญหาความเปราะบางในแต่ละประเภท 

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นอุปสรรคในการศึกษาสถานการณ์และความเป็นมาของกลุ่ม NEET ในประเทศไทยให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งข้อมูลเชิงคุณภาพนี้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบนโยบายและการบริการต่าง ๆ เพื่อขจัดปัญหาที่ทำให้เยาวชนกลายเป็นเยาวชน NEET

ฉะนั้น เพื่อปิดช่องว่างเกี่ยวกับความรู้ในเรื่อง NEET นี้ โครงการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับเยาวชน NEET ในประเทศไทยให้รอบด้าน นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้เยาวชนถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน รวมทั้งระบุหาช่องว่างในนโยบายและบริการที่มีอยู่ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดประชากรเยาวชน NEET

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สองประการ คือ 1. เพื่อนำเสนอผลการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (NEET) ในประเทศไทยให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของประเทศ (รัฐบาล องค์กรประชาสังคม องค์กรระหว่าง ประเทศ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเยาวชน) ผลการวิจัยดังกล่าวได้แก่ภาพรวมของปรากฏการณ์ NEET ในประเทศไทย รวมทั้งองค์ประกอบ สาเหตุ ปัจจัยความเสี่ยง และตัวขับเคลื่อนประชากรเยาวชนกลุ่ม NEET ในประเทศไทย รวมทั้งนโยบายและข้อเสนอแนะ 2. เพื่อแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศในทวีปยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการให้บริการแบบบูรณาการแก่เยาวชน NEET

โดยเป้าหมายสูงสุดในการจัดงาน คือ เพื่อให้มีการพูดคุยและการแบ่งปันความรู้ในระดับประเทศเกี่ยวกับประเด็นปัญหา NEET และช่วยเหลือรัฐบาล ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียอื่นในการแก้ปัญหาของเยาวชน NEET ซึ่งมีคำถามสำคัญที่ต้องพูดคุยกันในระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่
 
    • แผนกลยุทธ์ในระยะสั้นและระยะกลางเพื่อส่งเสริมความเชื่อมต่อของนโยบายและลดจำนวนเยาวชนที่เป็น NEET ในประเทศไทยคืออะไร
    • ควรมีโครงสร้างหรือสถาบันใด (เช่น รัฐบาล การเมือง กฎหมาย ฯลฯ) เพื่อให้บริการแบบบูรณาการแก่เยาวชน NEET ในประเทศไทย
   • ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น รัฐบาล (ในเรื่องการศึกษา การจ้างงาน และการบริการสังคม) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเยาวชนควรมีบทบาทที่สำคัญอะไรบ้างในการแก้ไขปัญหา NEET

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวน 100 - 150 คน องค์กรประชาสังคม นักวิชาการ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ภาคเอกชน เยาวชน และองค์กรที่มีผู้นำเป็นเยาวชนซึ่งทำงานกับเยาวชนโดยตรงในเรื่องต่าง ๆ เช่น การพัฒนาทักษะความชำนาญ การศึกษา การฝึกอบรมให้มีทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงาน และการสร้างโอกาสที่เป็นธรรมในสังคมโดยไม่มีการแบ่งแยก