In Thailand

ชาวบ้านยิ้มสู้ภัยแล้งเพราะศาสตร์พระราชาทำให้มีน้ำใช้มีรายได้ตลอดทั้งปี



ราชบุรี-ชาวบ้านหนองตาจอน หมู่ 10 และ 16 ต.ทุ่งหลวง กว่า 300 ครัวเรือน ไม่หวั่นหน้าแล้ง เพราะมีน้ำใช้ปลูกพืชผักทางการเกษตรตลอดทั้งปี หลังใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทาง บริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน ทำชาวบ้านสร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปี

จากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดราชบุรีในช่วงเดือนเมษายน เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำดิบ ในการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค แต่บ้านหนองตาจอน หมู่ที่ 10 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ติดภูเขามีพื้นที่ลาดชัน ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภค และการใช้เพื่อการเกษตรกรรม ทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างลำบากยากจน

จนชาวบ้านได้เขียนจม.ถวายฏีกาทูลเกล้าถึง ในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังทรงทราบเรื่อง ได้ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา จนพระองค์ทรงสามารถแก้ไขปัญหา และทรงมอบแนวทางการแก้ไขให้ปัญหาให้กับชาวบ้าน จนชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจในการบริหารจัดการน้ำภายในชุมชน โดยใช้แนวทางตามพระราชดำริของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีแม้จะเป็นหน้าแล้ง ยังมีน้ำใช้เพียงพอในการใช้อุปโภคบริโภคทั้งหมู่บ้าน และยังใช้ประกอบการเกษตรกรรม ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสียเงินซื้อน้ำ และสร้างรายได้รายตลอดทั้งปี

นายศักดิ์ สุขโขประสพชัย อายุ 51 ปี ประธานกลุ่มการบริหารจัดการน้ำในชุมชนเปิดเผยว่า เมื่อ 16 ปีก่อน ชาวบ้านเดือดร้อนมีปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก หน้าแล้งจะไม่มีน้ำใช้ หน้าฝนน้ำจะมีน้ำท่วม เพราะพื้นที่ลาคชันน้ำไหลผ่านมาแล้วก็ไปหมด เพราะชาวบ้านไม่รู้วิธีในการจัดการน้ำที่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทำให้ คุณลุงจิต เอี่ยมทอง ชาวบ้านในพื้นที่ ได้เขียนฏีกาขอความช่วยเหลือจากสำนักพระราชวัง จนในหลวงรัชกาลที่ 9 ทราบเรื่องราวและให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา ทั้งให้การสนับสนุนทางด้านความรู้และงบประมาณ รวมทั้งให้ สถาบันสารนิเทศทรัพยากรทางน้ำ เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ บริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่หาแหล่งจุดกำเนิดน้ำ

จนถึงการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนของคนภายในชุมชน โดยยึดแนวพระราชดำริของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการจัดการน้ำภายในชุมชน ทั้งมีการขุดลอกคูคลองเป็นระยะทางยาวกว่า 8.5 กม., สร้างฝายชะลอน้ำกว่า 10 จุด, ขุดสระน้ำพระราชทาน และขุดสระน้ำในพื้นที่เกษตร ในเส้นทางน้ำชั้นใต้ดิน กว่า 20 บ่อ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 16 รวม 2 หมู่บ้าน 300 ครัวเรือน ประชาชนจำนวนกว่า 1,500 คน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างยั่งยืนตลอดทั้งปี และเพียงพอต่อการเพาะปลูก จนชาวบ้านมีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง สามารถปลูกพืชผักตามฤดูกาลได้ เช่น กะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก, ถั่วฝักยาว, แตงกวา, ตะไคร้, พริก, ข่า และมะเขือ หมุนเวียนทดแทนช่วงว่างเว้นจากการปลูกข้าว ทั้งไม่ต้องออกไปหางานทำนอกพื้นที่อีกต่อไป

ทางสถาบันสารนิเทศฯ ยังดูแลให้ความรู้คำแนะนำเรื่องการจัดการนำผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาด ให้รวมกลุ่มนำผักส่งขายตลาดค้าส่งเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับค่าตอบแทนแบบเต็มที่ จนนำไปสู่การเก็บออมเหลือกินเหลือใช้และแบ่งปัน จนท.จากสถาบันสารนิเทศทรัพยากรน้ำ ยังเข้ามาให้ความรู้คำแนะนำ พร้อมลงพื้นที่ตรวจหาพิกัดเส้นทางน้ำทั้งพื้นที่และใต้ดิน จนให้คำแนะนำการสร้างฝายชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ ทั้งหางบประมาณในการดำเนินการต่างๆ จนชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ ยิ้มออกอย่างมีความสุขจนทุกวันนี้ 

ขณะที่ นายฉงน อ่อนศรีทอง อายุ 55 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 บอกว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะมีการบริหารจัดการน้ำ ได้รับความเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก ถึงช่วงหน้าแล้งต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ เมื่อหมดฤดูปลูกข้าว ชาวบ้านต้องหันไปเลี้ยงวัว บางครอบครัวก็ไม่มีรายได้นั่ง ทำให้ชาวบ้านยากจนและเดือดร้อยอย่างหนัก บางครอบครัวต้องนั่งรอนอนรอฤดูฝน บางครอบครัวต้องทิ้งถิ่นฐานในช่วงหน้าแล้งออกไปหางานทำในพื้นที่อื่น

แต่หลัง คุณลุงจิต ได้เขียนจม.ถวายฏีกาทูลเกล้าถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลังพระองค์ทรงช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ทั้งมอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชผักหมุนเวียน จนสามารถส่งออกขายไปสู่ตลาด ทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีความสุข มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี และมีรายได้ในการเพาะปลูกตลอดทั้งปีอีกด้วย

สุจินต์ นฤภัย / ราชบุรี