EDU Research & ESG
'ม.ศรีปทุม-ดีโหวต'เปิดบน Blockchain 'เพื่อไทย-ก้าวไกล'นำขาด/แก้ค่าครองชีพ
กรุงเทพฯ-(11 เม.ย. 2566) - มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลสำรวจ ‘คะแนนความนิยมทางการเมือง 2566’ ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. - 10 เม.ย. 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,922 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0 ผ่านระบบสำรวจความเห็นสาธารณะออนไลน์ของดีโหวต โดยพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 44.31 อับดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 21.54 อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.56 อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 4.04 อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.89 สำหรับผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ประชาชนจะเลือกเป็นอันดับ 1 จาก พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 42.89 อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.29 อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.07 อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 6.05 และ อันดับ 5 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5.31
ปัจจัย 3 อันดับแรกที่ทำให้ตัดสินใจลงคะแนนให้พรรคการเมืองคือ ความสามารถ-วิสัยทัศน์ ร้อยละ 56.82 อุดมการณ์พรรค ร้อยละ 43.58 และเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต ร้อยละ 35.71 โดยปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลหน้า เร่งแก้ไขคือ ค่าครองชีพ-ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 44.87 ความยากจน-หนี้สิน ร้อยละ 33.47 และเศรษฐกิจอ่อนแอ ร้อยละ 28.39
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิรัช เลิศไพรฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงความร่วมมือของมหาวิทยาลัยศรีปทุมและดีโหวต ที่จะร่วมกันพัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนด้านการวิจัยในเชิงวิชาการ สำหรับทางด้านการเมือง ไม่เพียงแต่ช่วงที่พรรคการเมืองต่าง ๆ หาเสียงเท่านั้น แต่รวมถึงภายหลังได้รับการเลือกตั้งเข้าไป ได้มีการทำงานตามสัญญาที่ให้ไว้ ประโยชน์ตกถึงประชาชนอย่างจับต้องได้หรือไม่ ดังเช่นที่ทางสำนักโพลฯ ได้ทำสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังการทำงานครบรอบ 10 เดือน ก็พบว่าความพึงพอใจของประชาชนยังอยู่ระดับที่ดีคือ ร้อยละ 85.12 โดยประชาชนเห็นว่าความโดดเด่นคือ เป็นคนที่ทำงานหนัก เป็น
นักพัฒนาที่มีความทันสมัย และเป็นนักบริหารได้ดี แต่ยังขาดการสื่อสารของการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้อยู่ เป็นต้น โดยทางสำนักโพลฯ จะเน้นผลที่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำไปใช้เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นนโยบายและการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป อีกด้านจะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาหันมาสนใจสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากกลุ่มเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
ดร. ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และผู้อำนวยการดีโหวต กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี Blockchain และ KYC มาใช้ในกระบวนการสำรวจความเห็นสาธารณะ จะช่วยคลายข้อสงสัยของประชาชนที่อาจมีต่อผลโพลว่า มาจากการสำรวจจริง ๆ หรือไม่ หรือไปสำรวจที่ไหนทำไมบางกลุ่มจึงไม่เคยได้รับการสำรวจ โดยสำหรับสำนักโพลฯ นี้ ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการโหวต เพื่อสะท้อนเสียงของตนได้ โดยระบบจะมีทั้งการแสดงผลโพลดิบแบบเรียลไทม์ และแสดงผลที่ผ่านการประมวลให้กลุ่มตัวอย่างไม่เอนเอียงสำหรับประเด็นสำคัญ ทั้งนี้สำหรับเทคโนโลยีที่ทางสำนักโพลฯ ใช้ นอกจากทำให้จะสามารถประมวลความเห็น ในเชิงปริมาณได้อย่างรวดเร็วและสะท้อนถึงเสียงที่แท้จริงของประชาชนแล้ว เรายังพัฒนาไปสู่การแสดงความเห็น ในเชิงคุณภาพที่ประชาชนสามารถพิมพ์ส่งความเห็นได้อย่างอิสระและประมวลผลด้วยระบบ AI ได้อีกด้วย โดยทางสำนักโพลฯ จะทยอยประกาศผลสำรวจที่เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ทั้งนี้ประชาชนทุกคนสามารถร่วมกันทำแบบสำรวจและเสนอความเห็นผ่านทาง www.d-vote.com