Health & Beauty
น่ารู้! การรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีการผ่าตัด โดย...นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากผิดปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเส้นเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน โรคกรดไหลย้อน กระดูกสันหลังหรือกระดูกเข่าเสื่อม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย และปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ พบว่า มีคนไทยมีโรคอ้วน มากกว่า 20.8 ล้านคน ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบสุขภาพของประเทศเป็นอย่างมาก จากข้อมูลโรคร่วมที่เกิดขึ้นจากภาวะโรคอ้วน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคอ้วนได้อย่างชัดเจน แต่การรักษาด้วยการใช้ยา การออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำ สามารถลดน้ำหนักได้ แต่ไม่สามารถรักษาหรือคงน้ำหนักให้ผู้ป่วยได้ตลอด ผู้ป่วยมักจะมีน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงได้มีการรักษาด้วยการผ่าตัดขึ้น ซึ่งสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าละมีผลสามารถคงน้ำหนักได้เป็นระยะเวลานานมากกว่า 7-10 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายไม่มาก สามารถพิจารณาลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายได้ แต่หากผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายที่สูงมากมักมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายเนื่องจากมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วนร่วมด้วย นอกจากนี้ลำพังเพียงการออกกำลังกายและควบคุมอาหารมักไม่สามารถลดน้ำหนักได้มากเพียงพอที่จะทำให้หายจากโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคเข่าเสื่อม โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ เป็นต้น
ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีค่าดัชนีมวลกายมากการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อลดน้ำหนักและรักษาโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนรวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆที่จะเป็นในอนาคต เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
เกณฑ์ดัชนีมวลกาย [ ส่วนสูง (เมตร)/น้ำหนัก2 (กิโลกรัม) ] |
|
น้อยกว่า 18 |
น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ |
18-22.9 |
สมส่วน |
23-24.9 |
น้ำหนักเกิน |
25-29.9 |
โรคอ้วน |
มากกว่า 30 |
โรคอ้วนอันตราย |
การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน คืออะไร ?
การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง ร่วมกับลดการดูดซึมของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก นอกจากนี้ฮอร์โมนความหิวที่ถูกสร้างที่กระเพาะก็จะลดลงหลังผ่าตัดทำให้หลังผ่าตัดความอยากอาหารก็จะลดลงด้วย จุดประสงค์ของผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนและรักษาโรคร่วมที่มากับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น ทำให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยสุขภาพดี แข็งแรงและชีวิตได้อย่างปกติ
การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เหมาะกับใคร?
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินทุกราย ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะให้ข้อมูลกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายดูความพร้อม และคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งมีข้อบ่งชี้ ดังต่อไปนี้
ผู้ที่ลดความอ้วนด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล โดยมี
1.ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 27.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วนที่ไม่สามารถคุมได้
2.ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) > 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน, ความโลหิตดันสูง, ไขมันในเลือดสูง, หยุดหายใจขณะนอนหลับ, ไขมันเกาะตับ เป็นต้น
3.ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) > 37.5 kg/m2
นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดลดน้ำหนัก คลินิกโรคอ้วนโรงพยาบาล
ราชวิถี กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนที่ต้องมีการเตรียมตัวและประเมินก่อนผ่าตัด ได้แก่ 1.ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าการผ่าตัดรักษาที่จะได้รับคืออะไร ความคาดหวังน้ำหนักที่ลดลงได้และโอกาสในการหายจากโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วน การปฏิบัติตนหลังผ่าตัดต้องทำอย่างไรบ้าง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
การผ่าตัดลดน้ำหนักมีวิธีการอย่างไร?
1.การผ่าตัดแบบสลีฟ (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy) คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร (Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง ลดน้ำหนักได้ดีโดยน้ำหนักส่วนเกิดลดลง 60-70% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน
2.การผ่าตัดแบบบายพาส (Laparoscopic Roux-en-y gastric bypass) คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือร่วมกับการทำทางเดินอาหารบายพาสลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อทำให้ทานได้น้อยลงและปรับเปลี่ยนสมดุลฮอร์โมนความอิ่มของร่างกายให้เพิ่มมากขึ้นโดยการกระตุ้นลำไส้เล็กให้สร้างฮอร์โมนความอิ่ม (GLP1,PYY) โดยสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ดีประมาณ 70-80% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน
3.การผ่าตัดแบบสลีฟพลัสบายพาส (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) คือ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร(Ghrelin) ทำให้ทานได้น้อยลง ร่วมกับการทำบายพาสผ่านลำไส้เล็กส่วนกลางเพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนความอิ่ม(GLP1,PYY) โดยสามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ดีประมาณ 70-80% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน
สำหรับการผ่าตัดแบบอื่น ๆ เช่น การใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร(Laparoscopic Gastric Banding) ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากลดน้ำหนักได้ไม่ดีและพบปัญหาห่วงรัดกระเพาะอาหารรัดกระเพาะอาหารจนเป็นแผล
การผ่าตัดลดน้ำหนักช่วยลดน้ำหนักได้อย่างไร? คืออะไร?
กลไกที่ทำให้หลังผ่าตัดแบบสลีฟช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ มีดังนี้
1.ลดขนาดกระเพาะ ทำให้ทานอาหารได้ลดลง
2.ลดบริเวณที่จะดูดซึมอาหาร
3.มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนควบคุมความหิวและความอิ่ม
4.การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร
5.มีการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้
6.ลดการอักเสบในร่างกาย
ผลลัพธ์ในการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารเป็นอย่างไร ใช้ระยะเวลาเท่าไรกว่าจะเห็นผลชัดเจน?
จากข้อมูลและงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่าหลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักส่วนเกิดลดลงสูงถึง 60-80% โดยใช้ระยะเวลาหลังผ่าตัดประมาณ 6-12 เดือน ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น หายจากโรคเบาหวานหรืออาการดีขึ้น >80%, หายจากโรคความดันโลหิตสูง 60-70%, หายจากโรคไขมันในเลือดสูง 80-90% นอกจากนี้น้ำหนักที่ลดลงจะช่วยป้องกันโรคเข่าเสื่อม, กระดูกสันหลังเสื่อม, ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจตีบตันอีกด้วย
การผ่าตัดลดน้ำหนัก อันตรายไหม ?
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัยและความชำนาญของศัลยแพทย์ผ่าตัดประสบกาณ์ผ่าตัดสูงและจบเฉพาะทางด้านการผ่าตัดโรคอ้วน พบว่าความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำมาก ขนาดแผลประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เย็บแผลด้วยไหมละลาย และปิดแผลแบบกันน้ำ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อยมาก และลุกเดินได้หลังผ่าตัด 1-2 วัน นอกจากนี้ในกระบวนการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดก็ยังมีทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมกันดูแลผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อให้การผ่าตัดลดน้ำหนักประสบความสำเร็จและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ให้น้อยที่สุด
อาการที่ต้องระวังหลังผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ?
ความเสี่ยงโดยทั่วไปหลังการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก คือ ภาะวะเลือดออกในช่องท้อง, กระเพาะรั่ว, ลิ่มเลือดดำอุดตัน เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปพบน้อยกว่า 1% ในศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ โดยหากมีอาการไข้ ปวดท้อง ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ อาเจียนตลอดหลังทานอาหาร ให้รีบติดต่อแจ้งแพทย์และพยาบาลได้ทันที
โดยสรุปการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน (Bariatric Surgery) ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้สามารถทำให้ผู้ป่วยลด น้ำหนักลงได้ดีกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ และยังทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคร่วมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดแบบไหนขึ้นอยู่กับศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับคนไข้ว่าจะเลือกวิธีการผ่าตัดแบบไหน เพื่อให้ได้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
สำหรับผู้ป่วยสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่ คลินิกโรคอ้วน ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกศัลยกรรมชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 1,3,5 ของแต่ละเดือน เวลา 13.00-16.00 น. โดยสามารถติดต่อปรึกษาและจองคิวเข้าพบแพทย์ผ่านทางเพจ คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลราชวิถี