In Bangkok

กทม.กำชับไซต์งานก่อสร้างบนถนนวิทยุ ปรับปรุงมาตรการป้องกันฝุ่นละออง



กรุงเทพฯ-นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีมีการเผยแพร่คลิปฝุ่นจากพื้นที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งบนถนนวิทยุปลิวฟุ้งในอากาศ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น หรือป้องกันวัสดุตกหล่นว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างบนถนนวิทยุได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.66 เกิดเหตุลมพายุฤดูร้อน ลักษณะเป็นลมกรรโชกแรงพัดเข้าที่โครงการก่อสร้างดังกล่าว ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดใหญ่ปลิวออกจากตัวอาคาร จากการตรวจสอบพบว่า อาคารก่อสร้างมีมาตรการป้องกันโดยติดตั้ง Mesh sheet หรือผ้าใบก่อสร้างป้องกันแต่ละชั้นทุกอาคาร แต่เนื่องจากวันเกิดเหตุมีลมกระโชกแรง ทำให้ผ้าใบบางจุดหลุดจากการผูกมัดไว้ เกิดเป็นช่องโหว่ให้ฝุ่นในอาคารปลิวออกมา ประกอบกับผ้าใบเดิมสะสมฝุ่นจำนวนมาก ทำให้ฝุ่นหลุดจากตัวแผ่นและปลิวฟุ้งในอากาศ จึงได้แจ้งให้โครงการก่อสร้างดังกล่าวแก้ไขจุดที่ผ้าใบ Mesh Sheet หลุด โดยซ่อมแซมให้กลับเข้าที่เดิม พร้อมกำชับให้โครงการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะตรวจสอบแพลนท์ปูน พร้อมทั้งประเมินปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณไซต์งานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการดัดแปลงอาคารตึก 87 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น (10 ทาวเวอร์) จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารอยู่อาศัยรวม 3,354 ห้อง โรงแรม 3,207 ห้อง สำนักงานสรรพสินค้าพาณิชย์ ร้านค้า แสดงสินค้า โรงมหรสพ ห้องประชุม ภัตตาคาร สระว่ายน้ำ และจอดรถยนต์ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยอาคารก่อสร้างที่ปรากฏในคลิปเป็นอาคารทาวเวอร์ที่ 6 (C3A/H3) สูง 50 ชั้น จากการตรวจสอบอาคารมีมาตรการป้องกัน โดยติดตั้ง Mesh sheet ในแต่ละชั้น แต่ในวันเกิดเหตุดังกล่าว Mesh sheet ของชั้นที่ 35 - 40 บางจุดหลุดจากการผูกมัดไว้ สนย.จึงได้มีหนังสือแจ้งกำชับเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงานให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรการป้องกันฝุ่นละอองจากงานก่อสร้างโดยเร่งด่วน รวมทั้งได้แจ้งสำนักงานเขตปทุมวัน พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นอกจากนั้น สนย.ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA โดยตลอดระยะเวลาการก่อสร้างได้กำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) แก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และจะต้องฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารและบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ