In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตบึงกุ่มชมแยกขยะ เปิดพื้นที่Hawker center-ฝุ่นPM2.5



กรุงเทพฯ-ชมคัดแยกขยะตามแหล่งกำเนิดหมู่บ้านสหกรณ์ เปิดพื้นที่ Hawker center หน้าหมู่บ้านวังทองเฮ้าส์ คุมเข้มฝุ่น PM2.5 ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จัดระเบียบผู้ค้าซอยนวลจันทร์ 56 ติดตามระบบจัดเก็บภาษี BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตบึงกุ่ม 

(28 เม.ย.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตบึงกุ่ม เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะตามแหล่งกำเนิด หมู่บ้านสหกรณ์ ซอยเสรีไทย 57 พื้นที่ 500 ไร่ ประชากร 5,300 คน บ้านเรือน 1,770 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2561 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จากร้านค้าและร้านอาหาร มีการคัดแยกขยะเศษอาหารไปใช้ประโยชน์ โดยนำไปทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ ส่วนน้ำมันเก่าหรือใช้แล้ว มีการรวบรวมไว้ขายโดยมีผู้มารับซื้อ นำกิ่งไม้ใบไม้ไปย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์ บริเวณสวนสาธารณะท้ายหมู่บ้าน โดยทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้จำหน่ายเป็นรายได้ของคหบาล 2.ขยะรีไซเคิล ร้านค้า ร้านอาหาร และประชาชนบางหลังคาเรือน คัดแยกไว้จำหน่ายเอง นอกจากนี้กำหนดจุดรวมทิ้งขยะรีไซเคิล

สำหรับประชาชนในหมู่บ้านหน้าสำนักงานคหบาล โดยเจ้าหน้าที่จะคัดแยกไปจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป เขตฯ นำรถเก็บขนมูลฝอยจัดเก็บตามบ้านเรือนอย่างสม่ำเสมอ ส่วนขยะของผู้ค้าที่ตลาดนัดของหมู่บ้าน ได้ประชาสัมพันธ์ให้เก็บรวบรวมและนำกลับไปทิ้งเอง 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดรวมทิ้งขยะอันตรายหน้าสำนักงานคหบาล ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง 5.ขยะชิ้นใหญ่และขยะที่ยังใช้ประโยชน์หรือนำไปบริจาคได้ กำหนดจุดรวมทิ้งขยะชิ้นใหญ่หน้าสำนักงานคหบาล ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเดือนละ 1-2 ครั้ง กำหนดจุดรวมทิ้งขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หน้าสำนักงานคหบาล โดยสามารถคัดเลือกนำไปใช้ประโยชน์หรือนำไปบริจาคต่อให้กับมูลนิธิหรือหน่วยงานต่างๆ 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณหน้าหมู่บ้านวังทองเฮ้าส์ ซอยนวมินทร์ 57 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมเพื่อจัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อย โดยให้ยุบรวมมาทำการค้าจุดเดียวกัน รวมถึงพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทางเท้า 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด ซอยประเสริฐมนูกิจ 33 เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานประกอบการต่อ ประกอบ หรือพ่นสียานยนต์ 4 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้เพิ่มเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณแผงกั้นฝุ่น เพิ่มบ่อล้างล้อรถบริเวณด้านหน้าแพลนท์ปูน พื้นสถานประกอบการต้องแห้งและไม่มีน้ำขัง บริเวณท่อปล่อยปูนต้องไม่มีเศษปูนสะสม 

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยนวลจันทร์ 56 หน้าตลาดโพธิ์สุวรรณ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 112 ราย ได้แก่ 1.ถนนเสรีไทย ซอยเสรีไทย 9-11 ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-23.00 น. ผู้ค้า 15 ราย 2.ถนนนวลจันทร์ ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 37 ราย 3.ถนนประเสริฐมนูกิจ ซอย 33, 36, 42 ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 10 ราย 4.หน้าตลาดอินทรารักษ์ ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-23.00 น. ผู้ค้า 35 ราย 5.หน้าบริษัทสยามกีฬา ซอยรามอินทรา 40 ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ผู้ค้า 15 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ขีดสีตีเส้นขอบเขตการตั้งวางแผงค้าให้ชัดเจน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด รวมถึงพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ผู้ค้ามาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 58,628 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 51,341 แห่ง ห้องชุด 25,117 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 135,086 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี การบันทึกข้อมูลและการค้นหารายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดเตรียมข้อมูล หนังสือ ภ.ด.ส. 6,7,8 ที่จะส่งให้กับทางโรงพิมพ์ ภายในวันที่ 30 พ.ค.66 ตรวจสอบในระบบ BMA -TAX ว่าสามารถแสดงผลข้อมูล หนังสือภ.ด.ส.ต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ หากตรวจพบว่าไม่สามารถแสดงผลข้อมูลได้ ให้รีบแจ้งกับกองรายได้ ขณะนี้ระบบการชำระภาษีแบบ E-Payment สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาชำระภาษีที่สำนักงานเขต พร้อมทั้งได้เน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามเป้าหมายที่กำหนด 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบึงกุ่ม  มีข้าราชการและบุคลากร 616 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลก่อนนำไปทิ้ง และแม่บ้านเขตฯ จะคัดแยกขยะที่สามารถขายได้รวบรวมไว้เพื่อขายในแต่ละเดือน 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังรองรับขยะของแต่ละฝ่าย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะเศษอาหารและล้างทำความสะอาดถังทุกวัน โดยนำเศษอาหารไปทำขยะที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เขตบึงกุ่ม ส่วนไขมันจากการทำอาหาร มีถังรองรับเพื่อดักไขมันจากการทำอาหาร โดยนำเศษไขมันไปทำขยะที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เขตบึงกุ่ม 3.ขยะอันตราย มีจุด Drop off  โดยเจ้าหน้าที่จะนำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะอันตรายที่เขตฯ ได้จัดไว้ และแม่บ้านเขตฯ จัดเก็บในส่วนที่ประชาชนนำมาทิ้ง ส่วนลานจอดรถฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นจุดรวบรวมจากพนักงานเก็บขนมูลฝอย ที่จัดเก็บจากบ้านเรือนประชาชนและสถานประกอบการ ก่อนรวบรวมและนำไปทิ้งที่ศูนย์ฯ อ่อนนุช 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านเขตฯ จะคัดแยกขยะทั่วไป นำไปทิ้งที่จุดรองรับขยะ และรถเก็บขนมูลฝอยจะเข้าจัดเก็บขยะช่วงเช้าทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 468 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 131 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 159 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล