In Bangkok

ผู้ว่าฯ​ชัชขาติ​ขอความร่วมมือ​คืนทางเท้า เส้นทางรถไฟสายสีชมพู​แก้ปัญหาจราจร



กรุงเทพฯ-(9 มิ.ย.66) เวลา 16.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในภาพรวมของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู จุดที่ 1 Big C Supercenter แจ้งวัฒนะ (เยื้องศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) เขตหลักสี่​ และจุดที่ 2 บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร​ ถึงวงเวียนบางเขน​ เขตบางเขน เพื่อรับทราบถึงแผนการคืนสภาพผิวจราจร ทางเท้า การระบายน้ำ​ ตลอดเส้นทางการก่อสร้างพร้อมรับฟังปัญหาที่กระทบต่อประชาชนและแนวทางแก้ไข 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือ รถไฟฟ้า สายรามอินทรา ดำเนินการโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงแคราย-มีนบุรี ทั้งหมด 30 สถานี รวมระยะทางตลอดเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 34.5 กิโลเมตร 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ร่วมกับกรมทางหลวงซึ่งมีรองอธิบดีทั้ง 3 ท่าน รวมถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)​ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ ซึ่งถนนแจ้งวัฒนะในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นถนนในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง​ กทม.มีหน้าที่สนับสนุน​และประสานการทำงาน​ โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นเหมือนเส้นทาง​ระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder)​ ​ซึ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เอกชนเป็นผู้ดูแลทั้งหมด​ ในถนนแจ้งวัฒนะเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ส่วนหนึ่งคือการนำสายไฟฟ้าลงดิน​ โดยหน่วยงานภาครัฐพยายามเร่งรัดการดำเนินการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อคืนพื้นผิวการจราจรโดยเร็วที่สุด​ ความก้าวหน้างานคืนผิวจราจรทั้งโครงการทั้งสิ้น 380,829 ตารางเมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 127,122 ตารางเมตร คิดเป็น 33.38 % และในส่วนของการตั้งเครื่องกีดขวาง (Barrier) ทั้งโครงการ 72,958 เมตร ปัจจุบันดำเนินการนำออกเพื่อคืนพื้นผิวการจราจรแล้ว 17,309 เมตร คิดเป็น 23.72 % โดยปัญหาในการคืนพื้นผิวการจราจรส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณใต้สถานีต่างๆ เนื่องจากต้องมีการวางระบบไฟฟ้าและต้องทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน​ เช่น​ การไฟฟ้า​ฯ​  ซึ่งในวันนี้ กทม. ได้ประสานกรมทางหลวงและรฟม.ให้เร่งรัดการคืนทางเท้าและพื้นผิวการจราจร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาร่วมกัน​โดยจะมีการทดสอบการเดินรถในปลายเดือนมิถุนายนนี้ 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของระบบการระบายน้ำ มีจุดที่กังวลเมื่อมีฝนตกลงมานั้น ยังคงเป็นตามแนวทางก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายๆ จุด ซึ่งปีที่แล้วจากการสำรวจพบว่ามี 770 จุด ที่เป็นจุดเปราะบาง ซึ่งกทม.รับทราบและดำเนินการแก้ไข​ ส่วนจุดที่มีการเริ่มต้นการก่อสร้างใหม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าหากฝนตกลงมาแล้วจะเกิดปัญหาใด อาจจะต้องใช้การคาดการณ์ในการแก้ไขปัญหาไปก่อนล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน​ โดยในส่วนของแผนรับมือน้ำท่วมช่วงวงเวียนนบางเขน - ม.ราชภัฏพระนครและซอยรามอินทรา 5 นั้น ได้มีการดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 จุด​ในบริเวณจุดเปราะบางที่ระบายน้ำได้ช้า โดยเป็นเครื่องสูบน้ำของแขวงทางหลวงกรุงเทพฯ และเครื่องสูบน้ำของกทม.​ โดยมีการสำรองเครื่องสูบน้ำไว้อย่างเพียงพอในกรณีฉุกเฉิน 

ด้านรองผู้ว่าฯ​ วิศณุ​ กล่าวเพิ่มเติมระหว่างตรวจพื้นที่จุดที่​ 2 ว่า​ ปกติบริเวณวงเวียนบางเขนจะระบายน้ำลงสู่คลองลาดพร้าว ซึ่งจะประสบปัญหาน้ำเอ่อล้นคลองทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้​ทัน ในปัจจุบันได้ทำรางน้ำเพื่อระบายน้ำที่ไม่สามารถระบายลงคลองลาดพร้าวให้ไปจัดเก็บไว้ในแก้มลิงก่อน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม​ และยังได้รับความร่วมมือจากค่ายทหารของกองทัพบกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้พื้นที่ทำเป็นแก้มลิงเพื่อรับน้ำด้วย​ ในส่วนของทางเท้าที่ยังเป็นห่วงคือการคืนทางเท้าฝั่งตรงข้ามม.ราชภัฏพระนคร​ เพราะในปัจจุบันยังมีความแคบไม่สะดวกในการสัญจร​ ซึ่งหากประชาชนพบปัญหาสามารถแจ้งได้ที่​ Traffy Fondue กทม.ยินดีที่จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความทุกข์ให้กับประชาชน 

การลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูในวันนี้มี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ฝ่ายวิชาการ) นายพรพรต สุริยนต์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 13 นายมงคล นวลเกลี้ยง ผู้อำนวยการแขวงกรุงเทพ นายวิทยา พันธุ์มงคล​ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้บริหารบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON คณะผู้บริหารสำนักการโยธา คณะผู้บริหารรฟม. คณะผู้บริหารกรมทางหลวง ผู้บริหารเขตหลักสี่และเขตบางเขน และหน่วยงานที่เกี่ยว​ข้อง ร่วมลงพื้นที่