In Bangkok

Open Dataเปิดโอกาสปชช.มีส่วนร่วม ช่วยต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน



กรุงเทพฯ-(16 มิ.ย. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม (Using Open Data to improve Governance and Integrity) ในการจัดงาน Chula The Impact ครั้งที่ 18 เรื่อง “การประชุมวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1” โดย นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงาน ณ ห้องศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น 5 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น โดยมุ่งประเด็นที่การนำโครงการริเริ่มสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของภาครัฐและองค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวสรุปโดยรวมว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าทุกคนอย่างทำให้ทุกวันดีขึ้น การต่อต้านคอร์รัปชันมีหลายวิธีการ สิ่งที่เราพูดอยู่ตอนนี้คือเรื่องของ Open Data ที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีตัวขับเคลื่อนหลัก 5 อย่าง ในการทำให้กรุงเทพมหานครดีกว่าเดิม อย่างแรก ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเมกะโปรเจ็กมากมาย และโปรเจ็กย่อย เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอยในร่างกาย ซึ่งผู้ว่าราชการให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย มีการเร่งดำเนินการโปรเจ็กย่อยและมีการดำเนินการเมกะโปรเจ็กควบคู่ไปด้วย 2. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอยากทำทุกอย่างและดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ดี 3. เรื่องของเทคโนโลยีและข้อมูลในการพัฒนาประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานให้ดีขึ้นได้ 4. ความซื่อสัตย์ในการทำงาน และ 5. การทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

สำหรับโปรเจ็ก Open Bangkok มีโปรเจ็กย่อย 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. Open Data มีการจัดสรรงบประมาณในการแบ่งปันข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยดำเนินการสอดคล้องกับแนวทางมาตรฐานชาติ และให้ความสำคัญกับผู้ใช้งาน ที่ผ่านมามีการให้ข้อมูลที่ไม่จำเป็นค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาข้อมูลโดยสอบถามความต้องการของประชาชนในความต้องการที่จะรู้ข้อมูลด้านใด 2. Open Services เป็นเรื่องการให้บริการประชาชน โดยเปิดให้ประชาชนมาร้องเรียนปัญหาได้ผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียน ประมาณ 304570 เรื่อง แก้ไข 220586 เรื่อง เป็นสถิติที่น่าสนใจ ซึ่งมีการร้องเรียนนอกเวลาทำการ 61% ถือเป็นประโยชน์มาก ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น เจ้าหน้าที่ให้บริการประชาชนตลอดเวลา ระยะเวลาในการแก้ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ใน 114 ชั่วโมง 3. Open Contract สำคัญมากในการปราบปรามทุจริต มีการทำงานร่วมกับ คอส โอซีพี เอจีพี ซึ่งมีการนำโครงการเข้าระบบคอสเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่น โครงการการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งการทำงานเรามีข้อมูลเยอะ ทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนากรุงเทพฯ 4. Open Innovation มีการนำนวัตกรรมหรือพัฒนาเว็บไซต์ให้ใช้งานง่ายกว่าเดิม และมีความโปร่งใสมากขึ้น และ 5. Open Policy ผู้บริหาร กทม. มีนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 226 นโยบาย มีการทำงานทุกวัน โดยมีแพล็ตฟอร์มให้เข้าไปดูนโยบายที่กำหนดไว้ มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ  
                    -------------------------------