In Bangkok
กทม.ทำความเข้าใจเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย แก่สถานประกอบการประเภท3
กรุงเทพฯ-นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของ กทม. สถานประกอบการในประเภทที่ 3 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ก่อนจะประกาศจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่จะจัดเก็บในระยะแรก ประกอบด้วย (1) หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ (2) สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/เดือน (3) โรงแรม โรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกินกว่า 2,000 ลบ.ม./เดือน และ (4) แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียได้ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของ กทม.เรียบร้อยแล้ว หรือมีความประสงค์จะขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของ กทม. อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสีย หากมีความประสงค์ที่จะเดินระบบด้วยตนเองและพิสูจน์ได้ว่า เดินระบบบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามมาตรฐาน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เป็นไปตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย หรือหากผู้ประกอบการประสงค์เลือกใช้บริการบำบัดน้ำเสียของ กทม.จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียขั้นต้น แล้วยื่นคำขออนุญาตต่อเชื่อมท่อน้ำเสียเข้ากับระบบรวบรวมน้ำเสียของ กทม.พร้อมชำระค่าธรรมเนียมรายเดือนตามอัตราที่กำหนด ซึ่งจากการศึกษาของ กทม.พบว่า การชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถูกกว่าการเดินระบบบำบัดน้ำเสียของตนเอง อีกทั้งยังช่วยผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเดินระบบและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสีย 22 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตหนองแขม เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตดุสิต เขตทุ่งครุ เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหลักสี่ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและบำรุงรักษามากกว่า 700 ล้านบาท/ปี ประกอบกับ กทม.มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ประชาชนที่ก่อให้เกิดน้ำเสียและก่อมลพิษลงสู่แหล่งน้ำตามคูคลองได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาน้ำเสีย พร้อมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กทม.จึงจำเป็นต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจากผู้ประกอบการ เพื่อลดภาระงบประมาณ กทม.ที่สูญเสียไปกว่า 700 ล้านบาท/ปี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปใช้งานบริการด้านสาธารณะอันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป