In Bangkok
35สถานพยาบาลรับโล่รางวัลดำเนินการ อนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาลปี65
กรุงเทพฯ-35 สถานพยาบาล รับโล่รางวัลดำเนินการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาล Bangkok GREEN & CLEAN Hospital Plus (BKKGC+) ประจำปี 2565
(20 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลการดำเนินการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาล : Bangkok GREEN & CLEAN Hospital Plus (BKKGC+) 3S Bangkok Environmental Health (Synergy for Environmental Health Safety and Sustainability in Bangkok) : ความร่วมมือเพื่อความปลอดภัย และความยั่งยืนด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร ให้แก่หน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ประจำปี 2565 โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ หน่วยงานที่ได้รับรางวัล และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ทั้งนี้ มีสถานพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน และสำนักงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่รับรางวัล Bangkok GREEN & CLEAN Hospital Plus (BKKGC+) รวม 35 แห่ง แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับเพชร 10 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลพญาไท 2 โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร
ระดับทอง 20 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลสวนเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โรงพยาบาลพญาไท 3 โรงพยาบาลสิรินธร ศูนย์บริการสาธารณสุข 67 ทวีวัฒนา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 บุญรอด รุ่งเรือง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลคลองสามวา โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
ระดับเงิน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 8 โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลวิภาราม โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวแสดงความยินกับหน่วยงานที่ได้รับรางวัลและขอบคุณที่ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งตั้งแต่เข้ามาเป็นทีมบริหารกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำ 2 เรื่องหลัก ๆ ที่ลดความเหลื่อมล้ำของเมืองได้ คือ สาธารณสุข และการศึกษา หากทำได้มาตรฐานชีวิตของประชาชนจะดีขึ้น เวลาพูดถึงกรุงเทพมหานคร คนจะนึกถึงเรื่องการเก็บขยะ น้ำท่วม น้อยคนจะพูดถึงเรื่องสาธารณสุข แต่จริง ๆ แล้วกรุงเทพมหานครคือหน่วยหน้าของปฐมภูมิ มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง มีโรงพยาบาลในสังกัด ขณะเดียวกันก็ต้องร่วมมือกับโรงพยาบาลอื่น การมีมาตรฐานที่เข้มข้นจะทำให้สามารถปรับปรุงคุณภาพการให้บริการได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการรับรางวัลครั้งนี้มี 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก การบริหารจัดการถ้าวัดไม่ได้ก็บริหารไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการวัดผลวัดคุณภาพต่าง ๆ ได้ เพราะถ้าวัดผลได้ก็จะรู้ว่าดีหรือไม่ดี เรื่องที่สอง ในการรับรางวัลครั้งนี้มีทั้งหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข เอกชน และหน่วยงานอื่น จะเห็นว่าระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครแตกต่างจากจังหวัดอื่น คือ ไม่มี ซิงเกิ้ลคอมมานเซ็นเตอร์ ไม่มีสาธารณสุขจังหวัดที่ช่วยกระจายทรัพยากร ถ้าสามารถบริหารทรัพยากรแบบไร้รอยต่อได้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และกรุงเทพมหานครมีแนวคิดในการทำบางกอกโซนนิ่ง แบ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ออกเป็น 7 โซน แต่ละโซนหน่วยบริการสาธารณสุขสังกัดต่าง ๆ มาร่วมมือกัน และรางวัลนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการประสานงานบางกอกโซนนิ่งได้ดีขึ้นในอนาคต ขอให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จและดำเนินการต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน