In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตพระโขนงตรวจงาน จัดเก็บรายได้-คัดแยกขยะ-พัฒนาสูง15นาที
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม. เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพงานทะเบียน ตรวจแยกขยะเขตพระโขนง ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม เล็งพัฒนาสวนเพลินพระโขนง จัดระเบียบผู้ค้าซอยปุณณวิถี 15-21 คุมเข้มค่าฝุ่นแพลนท์ปูน CPAC
(20 มิ.ย.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตพระโขนง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 30,358 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 26,016 แห่ง ห้องชุด 32,257 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 88,631 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตพระโขนง โดยได้สอบถามถึงระยะเวลาตั้งแต่รับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นกระบวนการงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ ภายในอาคารสำนักงานเขตพระโขนง มีข้าราชการและบุคลากร 220 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังแยกประเภทข้างห้องฝ่ายทะเบียน และหน้าห้องอปพร. ส่วนโครงการแยกขวดช่วยพี่ไม้กวาดและขยะกำพร้า ตั้งถังขยะบริเวณทางเข้าเขตฯ 2.ขยะอินทรีย์ ทุกฝ่ายตั้งถังขยะเศษอาหาร มีตะแกรงกรองน้ำแยกจากเศษอาหาร เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บเศษอาหาร รวบรวมมาทิ้งบริเวณจุดทิ้งเศษอาหารรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักบริเวณใต้สะพานพระโขนง 3.ขยะอันตราย ตั้งจุดรับขยะอันตรายหน้าห้องอปพร. และข้างห้องฝ่ายทะเบียน 4.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไปตามอาคาร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแต่ละอาคารจัดเก็บรวบรวมไปไว้ที่จุดพักขยะรวมบริเวณหลังอาคาร 7 ชั้น สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,000-1,200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 420 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 150 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 6.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1-2 กิโลกรัม/วัน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ จะนำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องนม โดยนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ 3.ขยะทั่วไป ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติก 4.ขยะอันตราย ซึ่งเป็นขยะที่ปนเปื้อนวัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค
สำรวจสวน 15 นาที สวนเพลินพระโขนง เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค พื้นที่ 73.6 ตารางเมตร 2.ที่ว่างซอยวชิรธรรมสาธิต 27 ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว พื้นที่ 122.6 ตารางเมตร นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดหาพื้นที่เพื่อจัดทำสวนสาธารณะแห่งใหม่ บริเวณสวนเพลินพระโขนง ซึ่งบางส่วนเป็นที่ราชพัสดุ ติดถนนสุขุมวิทใกล้กับสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 มีพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา จัดทำเป็นสวนสาธารณะขนาดหย่อม ลานออกกำลังกายกลางแจ้ง และพื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Uddc-CEUS) ดำเนินการออกแบบสวน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่เขตฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับรูปแบบและประมาณราคา เพื่อใช้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน ซอยปุณณวิถี 15-21 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 86 ราย ได้แก่ 1.บริเวณซอยสุขุมวิท 95 ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 95 ถึงซอยสุขุมวิท 95 แยก 2 ผู้ค้า 58 ราย ทำการค้าวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ช่วงเวลา 05.00-11.00 น. และเวลา 14.00-20.00 น. 2.บริเวณซอยสุขุมวิท 101 ตั้งแต่ซอยปุณณวิถี 15 ถึงซอยปุณณวิถี 21 ผู้ค้า 28 ราย ทำการค้าวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ช่วงเวลา 05.00-12.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 28 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/สถานที่ก่อสร้าง/ควันดำในสถานที่ต้นทาง 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมาย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสราวุธ อนันต์ชล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระโขนง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล