In Bangkok
ผู้ว่าฯชัชชาติเตือนผู้ขับขี่จยย.บนทางเท้า นำร่องติดกล้องวงจรปิดจับจริงปรับจริง
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯชัชชาติ เตือนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า นำร่องติดตั้งกล้องวงจรปิด พร้อมเคร่งครัดมาตรการเสียค่าปรับ หวังเปลี่ยนจิตสำนึกผู้ขับขี่
(21 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ระบบเทคโนโลยีจราจรกรุงเทพมหานคร ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิดป้องปรามขับขี่บนทางเท้า” พร้อมทั้งเยี่ยมชมการเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากศูนย์ระบบเทคโนโลยีจราจรกรุงเทพมหานคร (ห้อง CCTV) เพื่อรับชมระบบ AI ตรวจจับการเคลื่อนไหวและแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติของผู้กระทำผิดจากการฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้นำระบบเทคโนโลยี AI ร่วมกับระบบกล้อง CCTV เข้ามาใช้ในการกวดขันผู้ที่ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า ที่ผ่านมาได้ใช้เจ้าหน้าที่เทศกิจทำหน้าที่ดักจับ ซึ่งอาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง บางครั้งอาจเกิดความไม่โปร่งใส โดยมีการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ สามารถทราบว่าทะเบียนรถคันนี้ เป็นของใคร อยู่ที่ไหน โดยมีการทดสอบไปแล้ว 5 จุด จากข้อมูลเมื่อวันที่ 12-20 มิถุนายน 2566 ได้แก่ 1.ปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) มีรถจักรยานยนต์ขึ้นบนทางเท้า 2,921 ราย 2.ปากซอยเพชรเกษม 28 มี 1,338 ราย 3.หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ มี 619 ราย 4.ปากซอยเพชรบุรี 9 มี 49 ราย 5.ปั้มปตท.เทพารักษ์ มี 19 ราย โดยสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปยืนเฝ้า โปร่งใสมีหลักฐาน ข้อมูลแม่นยำ สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใคร เป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นวินมอเตอร์ไซค์ หรือว่าเป็นไรเดอร์ ซึ่งเรามีนโยบายในการเพิ่มกล้องให้ครบ 100 จุด
ระบบ AI จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรคน มีหลักฐานชัดเจน หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง คือตั้งกล้องไว้ มีใครบ้างทำผิดตรงไหนบ้างสามารถใช้ข้อมูลนี้ไปขยายผลต่อได้ เช่น รู้เลยว่าวินมอเตอร์ไซค์นี้ เป็นวินไหน รู้ว่าขับให้ Linemen ให้ Grab ให้ Panda อาจจะไปตามที่ต้นสังกัดเลย ซึ่งค่าปรับ 2,000 บาท อาจจะมีผลในแง่ของการสร้างจิตสำนึกได้ดีขึ้น เพราะคนไม่รู้ว่ากล้องอยู่ที่ไหนบ้าง กล้อง CCTV กับระบบ AI จะประมวลผลภาพ ตรวจสอบทะเบียนว่าใครเป็นเจ้าของ รวบรวมข้อมูลส่งหนังสือแจ้งให้มาเสียค่าปรับที่สำนักงานเขต ข้อดีคือมีระบบประมวลผลที่ใช้ AI หรือว่าใช้ตัวซอฟต์แวร์ ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่เทศกิจไปนั่งเฝ้า เอาเทคโนโลยีมาปรับปรุงพฤติกรรมและเปลี่ยนจิตสำนึก
“ที่ผ่านมาเราพยายามปรับปรุงทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพิ่มความฉลาดเข้าไป ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ใช้กล้องที่มีอยู่แล้ว เชื่อมโยงสัญญาณเข้าไป โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์ AI ในการประมวลผล” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้เราจะใช้กล้อง CCTV มาช่วยในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร ปัจจุบันเรามีระบบไฟจราจรในกรุงเทพมหานครประมาณ 500 จุด หลายจุดเป็นการ Control ด้วย Manual ไม่ได้มีการดูตามปริมาณรถ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน หรือวันเสาร์อาทิตย์ ก็เป็นการตั้งเวลาไว้ ซึ่งบางทีไม่สอดคล้องกับความต้องการ อย่างเช่นวันเสาร์อาทิตย์เราสามารถใช้กล้องพวกนี้มาดูปริมาณจราจร แล้วก็ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับความต้องการ ก็ทำให้เราใช้พื้นที่ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำกล้องพวกนี้มาเพิ่มเทคโนโลยีในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร ปรับเรื่องการเดินทางให้มีการปล่อยสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรให้ดีขึ้น ปีนี้ก็จะเป็นปีที่เราจะเน้นพวกนี้ให้มากขึ้น
ในส่วนของด้านกายภาพของถนน เช่นจุดกลับรถจะอยู่ไกลมาก เราต้องดูด้วยว่าจะสามารถปรับปรุงกายภาพถนนได้ไหม เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก ไม่ต้องขับย้อนสอน เชื่อว่าถ้ามีทางเลือกที่ไม่ได้ลำบากมาก ประชาชนก็ไม่อยากขึ้นไปบนทางเท้า ถ้าเป็นเรื่องข้อติดขัดในแง่กายภาพ เช่นการก่อสร้างรถไฟฟ้า บางทีต้องปิดจุดกลับรถทำให้การสัญจรอาจจะลำบาก แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำผิดกฎหมาย ถ้าเราเข้าใจเหตุผลว่าทำไมประชาชนถึงต้องทำผิดกฎหมาย อาจจะปรับปรุงในด้านกายภาพให้ดีขึ้น เพื่อให้เขามีทางเลือกที่ไม่ต้องทำผิดกฎหมาย ปรับปรุงพฤติกรรม ทำให้เขามีทางเลือกที่สะดวกมากขึ้น การจะมีซอยย่อยทะลุระหว่างชุมชนได้ไหม เรื่องนี้ก็เป็นมิติสองมิติเลย คือเมื่อเรามองเห็นปัญหา เราก็เอาไปแก้ในด้านของกายภาพด้วย
ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวด้วยว่า กล้อง CCTV พร้อมระบบ AI จะตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้า โดยระบบ AI จะประมวลผลภาพ ข้อมูลเจ้าของทะเบียนรถ ตามข้อมูลของกรมการขนส่ง โดยส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางแสดงผล สำนักเทศกิจจะรวบรวมข้อมูล ทำหนังสือส่งไปยังเจ้าของรถตามทะเบียนบ้าน ที่มีช่องในการเชื่อมต่อกับกรมขนส่งทางบก โดยจะจัดส่ง 2 ครั้ง เมื่อครบ 15 วันแล้ว ยังไม่มีการชำระค่าปรับ จะจัดส่งเป็นครั้งที่ 2 รวมแล้วประมาณ 30 วัน เพื่อให้ผู้ทำผิดจ่ายค่าปรับที่สำนักงานเขต
“ขอให้ทุกคนทราบว่าเรามี กล้อง CCTV พร้อมระบบ AI ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว เหมือนกับเป็นตาวิเศษคอยดูอยู่นะ ต้องฝากพวกเราที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ว่า อย่าไปขับรถบนทางเท้าเลย อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกับคนเดินเท้า ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งเรื่องค่าปรับ เรื่องอาชีพการงานได้ในอนาคต” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย