In Bangkok
กทม.แจงพัฒนาEIAงานก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท59ตามข้อกฎหมาย
กรุงเทพฯ-นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีกงสุลตูนิเชียร้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และสั่งยุติสร้างคอนโดมิเนียมสูง 37 ชั้น ในซอยสุขุมวิท 59 ว่า จากการตรวจสอบ อาคารดังกล่าวได้รับใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 23 พ.ค.62 ก่อสร้างอาคารชนิดตึก 30 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น (อาคารA) จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย (368 ห้อง) จอดรถยนต์ มีพื้นที่อาคาร 25,519.00 ตารางเมตร (ตร.ม.) อาคารชนิดตึก 37 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น (อาคาร B) 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย (198 ห้อง) จอดรถยนต์ มีพื้นที่อาคาร 24,438.00 ตร.ม. อาคารชนิดตึก 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นป้อมยามก่อสร้างทางเชื่อมอาคารรั้ว ค.ส.ล.และท่อระบายน้ำ ซึ่งได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 และได้รับความเห็นชอบเรื่องการพิจารณาการจัดระบบจราจรและที่จอดรถยนต์ภายในโครงการฯ จากสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.เมื่อวันที่ 5 ต.ค.61 โดยอาคารที่ยื่นแจ้งอยู่ในบริเวณการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม กทม.พ.ศ.2556 บริเวณหมายเลข ย.10-8 (สีน้ำตาล) เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในระยะ 500 เมตร จากบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและได้จัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดินตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ตามหนังสือสำนักผังเมืองลงวันที่ 24 ก.ค.61 เรื่องตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารดังกล่าวหมดอายุแล้ว โครงการฯ ก่อสร้างรั้วโครงการเพียงบางส่วน ยังไม่ได้ก่อสร้างอาคารและหยุดการก่อสร้างแล้ว ทั้งนี้ อาคารที่ยื่นแจ้งมีพื้นที่อาคารต่อหลังไม่เกิน 30,000 ตร.ม. มีด้านของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ซึ่งที่ดินที่ตั้งของโครงการฯ มีทางเข้าออกติดซอยสุขุมวิท 59 ตั้งแต่ที่ตั้งโครงการถึงถนนสุขุมวิท วัดความกว้างได้ 13.90 - 17 เมตร ส่วนจำนวนที่จอดรถของโครงการฯ ตามกฎหมายควบคุมอาคารต้องการที่จอดรถรวมทั้งโครงการ 374 คัน ตามแบบจัดไว้ 384 คัน ได้เกณฑ์ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 84
สำหรับมาตรการเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ สนย.ได้นำหนังสือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาต หรือออกใบรับแจ้งการก่อสร้าง เช่น หนังสือเรื่องการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง จากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง หนังสือการพิจารณาการจัดระบบการจราจรและที่จอดรถจากสำนักการจราจรและขนส่ง หนังสือเห็นชอบการพิจารณาเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก สผ. หนังสือตรวจสอบความกว้างของเขตทางจากสำนักงานเขตพื้นที่ และหนังสืออื่น ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาออกใบอนุญาต หรือออกใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง มีความถูกต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมาย เพื่อป้องกันผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า จากการตรวจสอบ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนกรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) มีมติให้ความเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มี.ค.62 ซึ่งไม่ได้มีสถานที่ตั้งติดกับสถานกงสุลตูนีเซียประจำประเทศไทย โดยสำนักงาน หรือที่ทำการของสถานกงสุลตูนีเซียประจำประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 212 ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตห้วยขวาง ที่ผ่านมากงสุลกิตติมศักดิ์ตูนิเซีย และนายศรีสุวรรณ จรรยา เคยมีหนังสือคัดค้านการเห็นชอบรายงาน EIA โครงการดังกล่าวมาแล้วในช่วงปี 2564 - 2565 ซึ่ง สสล.ได้แจ้งตอบผู้คัดค้านไปแล้วว่า คชก.กทม.ได้พิจารณาและมีมติยืนตามมติเดิมที่ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการฯ ไปแล้วในการประชุมครั้งที่ 15/2562 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.62 เนื่องจากการพิจารณารายงาน EIA เป็นไปตามหลักวิชาการและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเด็นข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดตามประเด็นที่ คชก.กทม.กำหนด ประกอบกับมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ การพิจารณารายงาน EIA ของ คชก.กทม.ให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดจะเกิดขึ้นกับบริเวณโดยรอบโครงการ ทั้งด้านจราจร การป้องกันและระงับอัคคีภัย เสียง ความสั่นสะเทือน กฎหมายสิ่งแวดล้อม การขออนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียนอาคารชุด การบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำ พื้นที่สีเขียว ทัศนียภาพและผังเมือง การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สาธารณสุข อาชีวอนามัย คุณภาพอากาศ การบดบังแสงแดดและทิศทางลม รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมและเหมาะสม จึงจะมีมติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ได้ ซึ่งพิจารณาโดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความได้สัดส่วน และความจำเป็นในการใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้น ๆ ไว้ด้วยแล้ว