In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตภาษีเจริญติดตาม การจัดเก็บภาษี/คัดแยกขยะ/ดูสวน15นาที



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตภาษีเจริญ จับเวลาให้บริการงานทะเบียน เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตภาษีเจริญ ชูคัดแยกขยะตลาดต้นไม้ชายคา เปิดป้ายสวน 15 นาทีถนนศาลธนบุรี ตรวจวัดควันดำอู่รถเมล์กัลปพฤกษ์ จัดระเบียบผู้ค้าซอยเพชรเกษม 39 

(22 มิ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย 

ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตภาษีเจริญ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาตั้งแต่รับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการได้รับความสะดวกและรวดเร็ว จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เขตฯ มีที่ดิน 42,357 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 43,356 แห่ง ห้องชุด 22,680 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 108,393 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว 

พร้อมกันนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ ภายในอาคารสำนักงานเขตภาษีเจริญ ซึ่งมีข้าราชการและบุคลากร 170 คน มีวิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังรองรับมูลฝอยแบบแยกประเภท แต่ละฝ่ายจะคัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระดาษ กล่องพัสดุ และนำมาใส่ในถังรองรับขยะรีไซเคิลที่จัดไว้ให้ในอาคาร โดยมีพนักงานสถานที่ประจำอาคารเป็นผู้เก็บรวบรวม บางส่วนเจ้าหน้าที่นำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นรายได้ บางส่วนแยกให้กับรถเก็บขนมูลฝอยเพื่อนำไปขาย 2.ขยะอินทรีย์ จัดวางถังรองรับขยะเศษอาหารบริเวณจุดล้างจานหน้าห้องน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรแยกขยะเศษอาหารใส่ลงในถังรองรับที่จัดเตรียมไว้ โดยขยะเศษอาหารที่ได้จากการคัดแยก ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงเขตภาษีเจริญ อีกส่วนหนึ่งนำไปเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ซึ่งหนอนแมลงวันลายเป็นหนอนที่มีประโยชน์ในการกำจัดเศษอาหารได้เป็นอย่างดี ไม่เป็นพาหะนำโรคหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับมนุษย์ โดยได้ถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนในพื้นที่ 3.ขยะอันตราย ตั้งวางถังรองรับมูลฝอยอันตรายประจำอาคาร ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรคัดแยกขยะอันตราย และนำมาใส่ในถังรองรับที่เตรียมไว้ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะจากจุดพักรวมขยะอันตราย เพื่อส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมทุกสิ้นเดือน 4.ขยะทั่วไป จะเป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเขตฯ ได้จัดวางถังรองรับขยะทั่วไปไว้ในอาคาร พนักงานสถานที่ประจำอาคาร จะรวบรวมขยะทั่วไปมาวางไว้ที่จุดรวมมูลฝอยด้านหน้าอาคารและหลังอาคาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บมูลฝอยทั่วไปทุกวัน เพื่อส่งกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 700 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 530 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 95 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 63 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.3 กิโลกรัม/เดือน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดต้นไม้ชายคา ซอยเพชรเกษม 28 พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ผู้ค้า 340 คน ร้านค้า 170 ร้าน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1. ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ และนำใส่ลงในภาชนะที่ตลาดจัดวางไว้ โดยจัดทำถังหมักปุ๋ยอินทรีย์และถังทำน้ำหมักชีวภาพบริเวณใกล้กับจุดทิ้งขยะ เพื่อให้ผู้ค้านำขยะอินทรีย์ ขยะเศษอาหารมาใส่เพื่อหมักปุ๋ยและทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยที่ได้นำมาใส่ต้นไม้ของตลาด ส่วนน้ำหมักชีวภาพนำมาราดลงในท่อระบายน้ำและราดห้องน้ำของตลาด ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ขึ้นมาจากท่อ ขยะอินทรีย์บางส่วนประเภทเศษผัก เศษผลไม้ จะมีประชาชนมารับจากผู้ค้าโดยตรงเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2. ขยะรีไซเคิล จัดวางถังสำหรับแยกขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติก ขวดแก้ว กล่องกระดาษ ในบริเวณพื้นที่ของตลาด ประชาสัมพันธ์ผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการคัดแยกขยะรีไซเคิล และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตลาด จัดเก็บรวบรวมส่งขายร้านรับซื้อของเก่า 3. ขยะทั่วไป จะเป็นขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยผู้ดูแลตลาดจัดวางถังรองรับขยะทั่วไปบริเวณจุดทิ้งขยะของตลาด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ได้จัดรถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บมูลฝอยทั่วไปทุกวัน เพื่อส่งกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 4. ขยะอันตราย  จัดวางถังสำหรับแยกขยะอันตรายบริเวณพื้นที่ของตลาด ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการแยกขยะอันตรายใส่ลงถัง ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะอันตรายจากตลาดและนำส่งจุดพักรวมขยะอันตรายของเขตฯ เพื่อรวบรวมนำส่งศูนย์กำจัดขยะอันตราย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 900 ลิตร/วัน หลังคัดแยก  520 ลิตร/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 4-5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 13-14 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน 

สำรวจความคืบหน้าสวน 15 นาที ถนนศาลธนบุรี พื้นที่ 1,920 ตารางเมตร เขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ว่าง บริเวณหน้าหมู่บ้านกิจเจริญ ซอยศาลธนบุรี 29 โดยจัดทำทางเดิน ปลูกต้นไม้ประเภทไม้พุ่ม จัดทำป้ายชื่อสวน ปัจจุบัน เขตฯ จัดทำสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในโอกาสนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมกับคณะผู้บริหารเขตภาษีเจริญ ทำพิธีเปิดป้ายชื่อสวนดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาเดินออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ เขตฯ ได้พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางแยกถนนบางแวก พื้นที่ 12 ตารางเมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำสะพานทางเดินข้ามร่องน้ำ ปลูกต้นรวงผึ้ง ปรับสภาพพื้นดิน เตรียมปูหญ้า ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และพัฒนาสวน 15 นาที ชุมชนเลิศสุขสม ถนนพุทธมณฑลสาย 1 สวนแห่งรอยยิ้มและพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ 400 ตารางเมตร บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จัดทำเป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ทำทางเดินสปาเท้า จัดทำที่นั่งพักผ่อนจากวัสดุเหลือใช้

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เขตเดินรถที่ 5 กลุ่มปฏิบัติการงานเดินรถที่ 2 อู่กัลปพฤกษ์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถนนราชพฤกษ์ จุดตรวจวัดควันดำรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถโดยสารประจำทาง บริเวณท่าปล่อยรถสาย 15, ปอ.15, 88, 195, 209, ปอ.11 จำนวน 65 คัน โดยเขตฯ ร่วมกับ ขสมก. ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล สำหรับการตรวจวัดควันดำรถโดยสารสาธารณะ เขตฯ จะทำการตรวจทุก 6 เดือน (ปีละ 2 ครั้ง) โดยการสุ่มตรวจสังเกตจากสภาพรถยนต์และลักษณะของควันที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และส่งเสริมให้ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ 

ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณปากซอยเพชรเกษม 39 ถนนเพชรเกษม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 15 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 257 ราย ดังนี้ 1.ซอยเพชรเกษม 48 ผู้ค้า 25 ราย 2.ซอยเพชรเกษม 42 ผู้ค้า 21 ราย 3.ซอยเพชรเกษม 36 ผู้ค้า 32 ราย 4.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 11 ราย 5.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 7 ราย 6.ซอยเพชรเกษม 20 ผู้ค้า 31 ราย 7.หน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 4 ราย 8.หน้าวัดนาคปรก ถนนเทอดไท ผู้ค้า 12 ราย 9.ซอยเพชรเกษม 33 ผู้ค้า 17 ราย 10.ซอยเพชรเกษม 39 ผู้ค้า 7 ราย 11.หน้าบ้านพักคนชรา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 49 ราย 12.ปากซอยวงศ์ดอกไม้ ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 22 ราย 13.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 4 ราย 14.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 6 ราย และ 15.ซอยเพชรเกษม 54 ผู้ค้า 9 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน  รวมถึงพิจารณาย้ายผู้ค้าในจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ให้เข้ามาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางเยาวะสกุล ทองธัญวีรัตน์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล