In Bangkok
ผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่เขตบางคอแหลมตรวจ แยกขยะในเขต-จัดเก็บรายได้-ฝุ่นจิ๋ว
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่เขตบางคอแหลม ตรวจแยกขยะเขตบางคอแหลม เพิ่มประสิทธิภาพงานทะเบียนบัตร เช็กระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ คุมเข้มค่าฝุ่นไซต์ก่อสร้างย่านถนนจันทน์ ชูต้นแบบคัดแยกขยะห้างเทอมินอล 21 พระรามที่ 3 พัฒนาสวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์
(18 ก.ค. 66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางคอแหลม ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะภายในอาคารสำนักงานเขตบางคอแหลม มีข้าราชการและบุคลากร 249 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังแยกประเภทขยะประจำทุกฝ่าย จัดเก็บทุกวันโดยนำไปไว้บริเวณจุดรับขยะรีไซเคิล ตามโครงการมือวิเศษกรุงเทพ แยกเพื่อให้...พี่ไม้กวาด นำส่งศูนย์จัดการมูลฝอยฯ พระราม 7 จัดตั้งกล่องรองรับกระดาษใช้แล้ว 2 หน้าประจำทุกฝ่าย จัดกิจกรรมขยะรีไซเคิลแลกไข่ทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารประจำทุกห้อง สอดคล้องกับโครงการไม่เทรวม พนักงานทำความสะอาดจัดเก็บและรวบรวมไว้บริเวณจุดทิ้งขยะเศษอาหาร ส่งเสริมให้ข้าราชการและบุคลากรนำขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักบริเวณสวนเกษตรลอยฟ้า 3.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตรายชิ้นเล็กประจำแต่ละฝ่าย รวบรวมส่งศูนย์จัดการมูลฝอยอันตรายหนองแขม 4.ขยะทั่วไป ตั้งถังแยกประเภทขยะประจำทุกฝ่าย พนักงานทำความสะอาด จัดเก็บและรวบรวมไว้บริเวณจุดทิ้งขยะทั่วไป ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บขยะทั่วไปทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 980 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 840 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 84 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 56 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาปรับขนาดรถเก็บขนมูลฝอย ให้เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณขยะ รวมถึงเพิ่มจำนวนเที่ยวในการจัดเก็บขยะเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางคอแหลม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวันและต้องไม่รวมเวลารอคอย ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน หากชำรุดเสียหายให้จัดหาเครื่องใหม่มาทดแทน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับการบริการ จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี ปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 19,866 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 32,195 แห่ง ห้องชุด 8,218 ห้อง สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 60,279 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการวัน อัลติจูด ถนนจันทน์ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ค.ส.ล. ความสูง 21 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดำเนินการปรับปรุงพื้นบริเวณด้านหน้าโครงการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์รถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกโครงการ รวมถึงเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำตลอดเวลาที่มีการก่อสร้าง นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 14 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำอู่รถสาธารณะ 2 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ร่วมกันลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ห้างสรรพสินค้าเทอมินอล 21 พระรามที่ 3 พื้นที่ 139,970 ตารางเมตร มีบุคลากรและเจ้าหน้าที่ 40 คน พนักงานประจำร้านค้า 400 คน จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ 15,000 คน วันเสาร์-วันอาทิตย์ 22,000 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะและกิจกรรมไม่เทรวม ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะ ได้เยี่ยมชมการคัดแยกขยะบริเวณศูนย์อาหาร ชั้น 5 ร้านอาหาร ชั้น 1 และห้องจัดเก็บขยะบริเวณด้านข้างของอาคาร วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะเศษอาหาร บริเวณจุดทิ้งขยะในศูนย์อาหาร ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหาร และนำไปรวบรวมบริเวณห้องพักขยะเศษอาหาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นัดหมายให้เอกชนเข้าจัดเก็บทุก ๆ 2 วัน 2.ขยะรีไซเคิล จัดเก็บขยะรีไซเคิลเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงาน โดยบริษัทฯ บริหารจัดการเป็นประจำทุกอาทิตย์ 3.ขยะทั่วไป จัดตั้งถังรองรับขยะทั่วไปตามจุดต่าง ๆ พนักงานทำความสะอาดจะรวบรวมไว้บริเวณห้องเก็บขยะทั่วไป เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่จัดเก็บเป็นประจำทุกวัน 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะ มีการจัดเก็บอย่างมิดชิด บริษัทฯ บริหารจัดการเองปีละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 15,100 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3,600 กิโลกรัม/เดือน
พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ (สวนเชิงสะพานพระรามที่ 3) เขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรุงเทพมหานคร เขตฯ เป็นผู้รับผิดชอบและบำรุงรักษา โดยดำเนินการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกไม้พุ่ม จัดทำทางเดิน และวาดภาพ 3 มิติ เสร็จเรียบร้อยแล้ว สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมไหสวรรย์ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยมอบเขตฯ เป็นผู้รับผิดชอบและบำรุงรักษา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2566 สวนหย่อมซอยมาตานุสรณ์ ถนนมไหสวรรย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยมอบให้เขตฯ เป็นผู้รับผิดชอบและบำรุงรักษา ปัจจุบันผ่านการพิจารณาแบบแล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมให้คำปรึกษา
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายปวิน แพทยานนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางคอแหลม สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล