Biz news

'เอกนัฏ'ดัน'ดีพร้อม'โชว์ซอฟต์พาวเวอร์ ในงาน World Expo2025 



ประเทศญี่ปุ่น 21 พฤษภาคม 2568 - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ได้ร่วมจัดพื้นที่แสดงศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่าน Temporary Exhibition ในพื้นที่โซนด้านหลัง Thailand Pavilion ระหว่างวันที่ 15 – 26 พฤษภาคม 2568 เพื่อแสดงศักยภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยงวัตถุดิบไทยสู่ตลาดโลก ภายใต้แนวคิด “Future-Ready Thai Product Champions” และการดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ของชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “Innovative Agriculture-Industry Development and Tourism Community” รวมถึงขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA สร้างสรรค์ ต่อยอด โน้มน้าว เผยแพร่ และสร้างความประทับใจ คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,500 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งาน World Expo 2025 Osaka Kansai, Japan เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญระดับโลก สามารถแสดงศักยภาพผ่านการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปไกลสู่ระดับโลกโดยตอบโจทย์ความต้องการแสดงอัตลักษณ์ของสินค้าไทยจากสมุนไพรพื้นบ้านสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก อีกหนึ่งเสน่ห์ที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นไม่แพ้ใครคือ ‘การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์’ ที่นำเอาอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นประสบการณ์ที่ทั้งแปลกใหม่ และลึกซึ้ง นักท่องเที่ยวไม่ได้มาแค่ชมความงามแต่ยังได้สัมผัสวิถีชีวิต เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านและใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน ในแบบที่หาไม่ได้จากที่ใดในโลก ตั้งแต่การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปจนถึงการแปรรูปวัตถุดิบพื้นบ้านทุกกิจกรรม ล้วนเต็มไปด้วยความหมาย เพราะการเดินทางในประเทศไทยคือการเดินทางที่เชื่อมโยงผู้คน วัฒนธรรม และหัวใจเข้าด้วยกัน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ให้มีความทันสมัย สะดวก สะอาด โปร่งใส” จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ร่วมจัดพื้นที่แสดงศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่าน Temporary Exhibition ในพื้นที่โซนด้านหลัง Thailand Pavilion ระหว่างวันที่ 15 – 26 พฤษภาคม 2568 ใน Exhibition Concept สร้างสรรค์ชีวิต เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่เป็นเป้าหมายปลายทางของคนทั้งโลก Theme Week ที่ 2 The Future of Community and Mobility (อนาคตของชุมชนและการโยกย้าย) เพื่อแสดงศักยภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยงวัตถุดิบไทยสู่ตลาดโลก และการดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ รวมถึงการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA สร้างสรรค์ ต่อยอด โน้มน้าว และเผยแพร่ สร้างความประทับใจ อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยคาดว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,500 ล้านบาท

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่เป็นวัตถุดิบ แปรรูปจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นการนำผลิตภัณฑ์อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการแสดงศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่าน Temporary Exhibition ใน 2 Concepts ดังนี้

Concept ที่ 1 เป็นการแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยงวัตถุดิบไทยสู่ตลาดโลก (Inside Out) ภายใต้แนวคิด “Future-Ready Thai Product Champions” ที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยที่เกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา และนวัตกรรมสมัยใหม่ จากสมุนไพรพื้นบ้านสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตั้งแต่วัตถุดิบในกลุ่มสารสกัดสมุนไพร Natural Extract, Fragrance, Essential Oil, Aroma Therapy, Flavors และผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่สะท้อนอัตลักษณ์ไทย ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคต อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสมุนไพร น้ำมันมะพร้าวสกัด แป้งขจัดกลิ่นกายเต่าเหยียบโลก Plant-Based Food อาหารเพื่อสุขภาพ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

Concept ที่ 2 เป็นการแสดงการดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ (Outside In) ภายใต้แนวคิด “Innovative Agriculture-Industry Development and Tourism Community” ที่แสดงถึงประเทศไทย เป็นปลายทางการท่องเที่ยวที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และยังเป็นผู้นำทางด้าน Medical และ Wellness รวมทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและทรัพยากรทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศไทย มีความพร้อมที่จะรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวแบบ Long Stay Medical Tour และ Digital Nomad ผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจกับชุมชนและการท่องเที่ยวสร้างความประทับใจในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เสน่ห์ใหม่ของประเทศไทยที่เชื่อมโยงผู้คน วัฒนธรรม และหัวใจ” คือ การเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและมีส่วนร่วมกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การถ่ายภาพหรือชมความงามจากระยะไกล แต่คือการได้ "ใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน" เรียนรู้วิธีการแปรรูปวัตถุดิบพื้นบ้าน ลองทำหัตถกรรมด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งเข้าร่วมพิธีกรรมพื้นเมืองที่เปี่ยมด้วยความหมาย กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงเติมเต็มประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว แต่ยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริม

การอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทำให้การเดินทางในประเทศไทยเป็นมากกว่าการท่องเที่ยว แต่คือการเดินทางของหัวใจที่เชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น มีความร่วมมือในด้านการพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจใน 5 ด้านหลัก ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต (Productivity) คุณภาพ (Quality) การส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา (Delivery) การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory) และต้นทุนในกระบวนการ (Work in process) ซึ่งมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานของธุรกิจเหล่านี้ มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวการผลิต และสร้างผลกำไร พร้อมทั้งมุ่งหวังให้ธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาและอยู่รอดได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน (JIRITSUKA) และบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ยึดมั่นในปรัชญาความยั่งยืน (ESG) ภายใต้แผนงาน Kirei Lifestyle Plan ซึ่งมุ่งเน้นการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการจัดการวัสดุเหลือใช้จนเกิดประโยชน์สูงสุด

“ดีพร้อม เชื่อมโยงศักยภาพของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลกผ่าน Inside Out - Outside In โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ผสานวัตถุดิบธรรมชาติ ภูมิปัญญาไทย และเทคโนโลยีสมัยใหม่สู่ตลาดสุขภาพระดับสากล พร้อมทั้งสะท้อนภาพลักษณ์ไทยในฐานะจุดหมายปลายทางด้าน Medical & Wellness Tourism ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว กลุ่มคุณภาพทั่วโลก เสริมด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้นักเดินทางได้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ ยังแสดงถึงความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน”  นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย