In Bangkok

ส.ก.เขตพญาไทยื่นญัตติด่วนขอให้กทม. จัดทำแผนเผชิญเหตุรถไฟฟ้าโมโนเรล



กรุงเทพฯ-(19 ก.ค. 66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ได้ยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้กรุงเทพมหานคร จัดทำแผนเผชิญเหตุและ แผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรถไฟฟ้าโมโนเรลหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว เนื่องจากในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเกิดขึ้น 2 สาย คือ สายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นกรุงเทพมหานครไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ถึงแม้ว่าจะเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นก็ตาม จึงอยากให้กรุงเทพมหานครโดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการจัดทำแผนช่วยเหลือผู้ประสบเหตุภายในรถโมโนเรล เช่น การช่วยเหลือประชาชน การดำเนินการของสถานีดับเพลิงและกู้ภัยในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากการเดินรถของ โมโนเรลนั้นไม่มีทางเดินระหว่างเส้นทางแต่ละสถานี ผู้ประสบเหตุจึงไม่สามารถออกจากตัวรถได้ระหว่างเดินทาง และเป็นสิ่งที่อันตรายมากเนื่องจากรางมีความสูงจากพื้นถนนเทียบเท่าตึก 3-4 ชั้น ดังนั้นหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานครต้องมีความพร้อมเทียบเท่าในต่างประเทศ โดยต้องมีการฝึกการเผชิญเหตุอย่างเข้มข้น จึงขอให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบ โดยเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวสนับสนุนญัตติดังกล่าวว่า ขอให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีแผนป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเพิ่มเติมนอกจากรถโมโนเรล เพราะเป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบกับทุกเหตุภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟ ฯลฯ โดยให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเตรียมข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์นั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ท่อลำเลียงแก๊สธรรมชาติที่ลำเลียงมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทางกาญจนบุรี แล้วเข้ามาสู่กรุงเทพฯ โดยมีท่อแก๊สผ่านถนนราชพฤกษ์และกัลปพฤกษ์ เพื่อลำเลียงไปสู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ บริเวณสะพานพระราม 6 ซึ่งหากมีเหตุก่อการร้ายหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับท่อแก๊สดังกล่าว ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครจะมีแนวทางในการเผชิญเหตุอย่างไร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอาจจะต้องจัดตั้งศูนย์บัญชาการที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่รวมถึงจังหวัดข้างเคียงอีกด้วย อาทิ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ที่มีโรงงานสารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ

ด้านนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอสนับสนุนญัตตินี้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดพูดถึงแผนในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากรถโมโนเรล รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือมีการซ้อมแผนช่วยเหลือ ซึ่งหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นจริงกรุงเทพมหานครอาจจะดำเนินการได้ไม่ทันท่วงที จึงอยากฝากไปถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ให้เร่งดำเนินการจัดทำแผนฯ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีวัวหายแล้วล้อมคอกอีกต่อไป

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวสนับสนุนญัตตินี้โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันนี้กรุงเทพฯ กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์กว่า 6 ล้านคน และประชากรแฝงกว่า 10 ล้านคน ที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ดังนั้นการเจริญเติบโตของเมืองต้องควบคู่กับการแก้ไขปัญหาการจราจร จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT รถโมโนเรล รวมถึงรถ BRT  และในอนาคตอาจต้องมีทางยกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอีกมากมาย และรวมถึงรถไฟรางเดี่ยวและรางคู่ที่ต้องเดินทางผ่านกรุงเทพฯ เมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึงขึ้น กรุงเทพมหานครต้องมีความพร้อมในการเผชิญเหตุและรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

นายกฤษฎ์ คงวุฒิปัญญา ส.ก.เขตภาษีเจริญ ได้สนับสนุนญัตติดังกล่าว และฝากประเด็นเพิ่มเติมถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ให้ตรวจสอบอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุต่าง ๆ ว่ามีเพียงพอครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงยังใช้งานและยังมีประสิทธิภาพเหมาะสมอยู่หรือไม่ อย่างไร เพื่อให้เกิดความพร้อมกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในปัจจุบัน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหลายท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำแผนป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถโมโนเรล เนื่องจากรถในรูปแบบดังกล่าวไม่มีทางลงจากรถได้ระหว่างสถานี เนื่องจากเป็นรางเดี่ยวไม่เหมือนรถไฟฟ้าทั่วไปที่มี 2 ราง เมื่อเกิดเหตุคนยังสามารถเดินอีก 1 รางได้ โดยแต่ก่อนนั้นการกู้ภัยของรถโมโนเรลต้องใช้รถกระเช้าขึ้นไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ในปัจจุบันนี้รถโมโนเรลได้เตรียมพร้อมช่องทางสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยไว้ตรงกลางระหว่างราง ซึ่งเป็นเหล็กอยู่ตรงกลางรางสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยลงมาได้ และกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น จึงอยากแจ้งให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังจัดทำแผนดำเนินการช่วยเหลือและกู้ภัยผู้ที่มีความเสี่ยงจากการเดินทางรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงภัยจากโรงกลั่นน้ำมัน ท่าอากาศยาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังรวมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ และบุคลากรให้มีความพร้อมอีกด้วย