In Bangkok
จี้ทุกหน่วยงานเร่งใช้จ่ายงบให้ทันปีงบฯ เกิดประโยชน์สูงสุดกับกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพฯ-ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (9 ส.ค.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล โดยมี หัวหน้าหน่วยงานเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแต่ละรายการ
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดการจัดทำงบประมาณในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่งเมื่อได้รับงบประมาณไปแล้วขอให้ใช้จ่ายให้ทันปีงบประมาณ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกรุงเทพมหานคร” ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวกับหน่วยงานที่เข้าชี้แจงงบประมาณในวันนี้
ในที่ประชุม นางสาวกนกวรรณ เอี่ยมลิ้ม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร กทม. ได้รายงานอำนาจหน้าที่ทั่วไปของสำนักงบประมาณ และหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ตอบข้อซักถามคณะกรรมการวิสามัญฯ เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติกรณีเงินอุดหนุนซึ่งต้องได้รับจากรัฐบาล แต่ขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ ว่า ในปีนี้ กทม.ได้ของบอุดหนุนจากรัฐบาลไปแล้ว บางรายการหากไม่ได้รับการอุดหนุนกทม.จะใช้งบประมาณเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำหนังสือไปขอจัดสรรเงินมาชดเชยในส่วนที่กทม.ออกไปด้วย สำหรับการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ภาครัฐได้นำระบบ GFMIS มาใช้ เพื่อให้การบริหารงานการเงินการคลังภาครัฐ การบัญชีการจัดซื้อจัดจ้าง การเบิกจ่ายงบประมาณ และการบริหารทรัพยากรบุคคล มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานที่มีอยู่ยังไม่สามารถรองรับระบบได้ จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยและใช้งานได้อย่างเหมาะสม
จากนั้น พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ได้นำผู้บริหารสำนักฯ เข้าชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ และตอบข้อซักถามคณะกรรมการวิสามัญฯเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการค่าใช้จ่ายการจัดการฐานข้อมูล แผนงาน 2 ปี และได้ขอขยายระยะเวลาถึงปี 68 เพื่อให้บริการระบบจัดการฐานข้อมูล Big Data แก่ทุกหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมแต่ละหน่วยงานต้องจัดหาและดูแลเอง หากเรียบร้อยจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับทุกหน่วยงานได้เป็นอย่างมาก ในส่วนของศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร BMA OSS เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวก เป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เขต ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการหากเรียบร้อยสำนักฯจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างแพร่หลายต่อไป สำหรับความล่าช้าโครงการจัดทำระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กรของกรุงเทพมหานคร BMA ERP เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบใหม่ เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพรวมการให้บริการในกรุงเทพมหานคร รวมถึงระบบนี้จะสามารถเชื่อมโยงไปยังระบบ GFMIS หากงบประมาณของหน่วยงานต้องเชื่อมโยงกับงบประมาณของรัฐบาล ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น