In Bangkok
กทม.เตรียมป้องกันควบคุมโรคฝีดาษลิง เข้มงวดมาตรการคัดกรองผู้ป่วยในรพ.
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามแนวโน้มสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากพบผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยว่า จากการตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (Epinet) และระบบรายงานการเฝ้าระวัง (รง.506) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือน ก.ค.66 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 46 คน ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกับเดือน มิ.ย.66 ที่พบผู้ป่วย 48 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค.66) ขณะที่ กทม.มีรายงานผู้ป่วยรวม 136 ราย ในจำนวนนี้ เป็นชาย 133 คน และเป็นหญิง 3 คน เป็นคนไทย 117 ราย ชาวต่างชาติ 19 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 121 คน และติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง
ทั้งนี้ กทม.มีระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงเชิงรับ โดยตรวจจับการระบาดจากระบบรายงานโรคและลงสอบสวนโรคทุกเคส และการป้องกันเชิงรุกโดยร่วมกับสำนักงานเขตและองค์กรภาคประชาสังคม NGO ให้ความรู้สถานประกอบการสุขภาพประเภทสปา ซาวน่า และสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายรักชาย รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้บริการในคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิงควบคู่กับการดูแลสุขภาพอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการแพร่ระบาด นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจลักษณะอาการของโรค รวมถึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง โดยงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น โดยเน้นย้ำแม้ว่ามีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสแบบแนบชิดเนื้อ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้ หากมีผื่น หรือตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษลิง หรือผู้ป่วยฝีดาษลิงให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย