In News

กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเกาหลีใต้หารือบีโอไอ เตรียมตั้งฐานการผลิตรถอีวี.ในไทย



กรุงเทพฯ-สมาคมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเกาหลีใต้ พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีเมืองยองกวาง ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบและศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e - Mobility) ของเกาหลีใต้ นำคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการอีวีกว่า 20 คน เดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางลงทุนอุตสาหกรรมอีวีในไทย พร้อมหารือกับบีโอไอและพันธมิตรบริษัทไทย ต่อยอดจากที่บีโอไอเดินสายโรดโชว์เกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลหนุนสุดตัว ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเฉพาะ  “ธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า” ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ไทยเป็นผู้นำศูนย์กลางการผลิต EV สำคัญของโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 บีโอไอได้หารือร่วมกับ นายคัง จุงมัน นายกเทศมนตรีเมืองยองกวาง พร้อมคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นสมาชิกของสมาคมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเกาหลีใต้ (Korea Smart e - Mobility Association: KEMA) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อการเกษตร รวมกว่า 20 คน ที่ได้เดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยตามคำเชิญของบีโอไอ โดยบีโอไอยังได้เชิญผู้ประกอบการไทยที่เกาหลีให้ความสนใจ เช่น บริษัท พนัส เอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถบัสและรถยนต์เชิงพาณิชย์รายใหญ่ของไทย เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย

เกาหลีใต้ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์และ EV ระดับโลก โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ฮุนได และเกีย โดยเมืองยองกวาง เป็นเมืองที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV penetration rate) สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ และเป็นเมืองแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้เป็นเมืองต้นแบบในการผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับรถยนต์ EV (Regulatory - free zone for e - mobility) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e - Mobility Cluster) ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การผลิตแบตเตอรี่ สถานีบริการอัดประจุ การพัฒนาระบบติดตามและบริหารจัดการข้อมูลการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยียานยนต์แห่งเกาหลี (Korea Automotive Technology Institute: KATECH) ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนามทดสอบ
ยานยนต์และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ในเมืองยองกวางด้วย  

“ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ได้ให้ความสนใจอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค และมีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ครบวงจร อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV อย่างชัดเจน และตลาด EV ในประเทศไทยก็เติบโตสูงที่สุดในอาเซียน จึงสนใจเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุน และหารือโอกาสการร่วมลงทุนกับพันธมิตรบริษัทไทย โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม EV ไทยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น และตอบโจทย์การใช้งานในหลายรูปแบบ” นายนฤตม์ กล่าว  

ประเทศไทยและเกาหลีใต้ ถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญมายาวนาน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561 – มิถุนายน 2566) เกาหลีใต้มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 144 โครงการ มูลค่ากว่า 58,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ และดิจิทัล

 รัฐบาลหนุน “ธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า” ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ไทยเป็นผู้นำศูนย์กลางการผลิต EV สำคัญของโลก

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและครบวงจร โดยธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ในปี 2565 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ในตลาดโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนตลาดราว 7.1% ของการส่งออกยางรถยนต์ทั้งหมดของโลก รองจากจีน ที่มีสัดส่วน 20.7% ในส่วนของการเติบโตมูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้านั้น Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวมามีบทบาทสำคัญแถวหน้าของธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้านั้นสืบเนื่องมาจาก ความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบของไทยในการเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก อีกทั้งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การที่ไทยมีศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center – ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ ตั้งอยู่ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,235 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งให้บริการตั้งแต่ปี 2562 โดยตั้งแต่เปิดให้บริการ มีผู้ประกอบการมาใช้บริการแล้วกว่า 300 ราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศราว 30-50% ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างครบวงจรเต็มรูปแบบ ในปี 2569 นอกจากนี้ ภาครัฐได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมทั้งภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้การผลิต นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกจะได้ยกเว้นภาษีอากรการนำวัตถุดิบ เช่น สารเคมีที่ใช้ในการผลิต 

“รัฐบาลกำหนดนโยบาย และดำเนินนโยบายได้อย่างเท่าทันช่วงเวลาของกระแสการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ไทยขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า และจะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต การลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก รวมทั้ง เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย ยกระดับราคาสินค้าเกษตรไทยที่เป็นวัตถุดิบ รวมทั้ง จะเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้ไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรอีกด้วย” นางสาวรัชดาฯ กล่าว