In Thailand
ศรีสะเกษรับมือเอลนีโญคาดแล้งอีกยาว เฝ้าระวัง!อาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
ศรีสะเกษ-ชลประทานแจ้งเตือน เอลนีโญยังแรง หวั่นแล้งยาว วอนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ ขณะเดียวกันให้เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
วันนี้ ( 30 สิงหาคม 2566) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) โครงการชลประทานศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้เปิดเผยว่าสถานการณ์เอลนีโญ ยังแรง หวั่นจะแล้งยาว จึงได้วอนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ ทั้งนี้ในจังหวัดศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ระดับเก็บกักทั้ง 17 แห่ง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 208.34 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 122.04 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58.58 % ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วจำนวน 78.57 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37.72% ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา เก็บกักน้ำได้รวม 139.44 ลัาน ลบ.ม. ปัจจุบันเก็บกักได้ 86.44 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54.76% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วจำนวน 41.43 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27.64 %
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงในเรื่องของภัยแล้ง โดยให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญ อาจมีผลกระทบให้แล้งยาวได้ โดยต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา จากลุ่มน้ำต่างๆทั้งลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล รวมถึงลุ่มน้ำย่อยในจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ยังคงมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 และอาจลากยาวไปจนถึงปีหน้า จึงได้สั่งการให้หัวหน้าฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กับการดำเนินการตาม 5 มาตการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนของกรมชลประทาน ได้แก่ 1.น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดทั้งปี 2.บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก 4.กักเก็บน้ำในเขื่อนไว้ให้ได้มากที่สุด และ 5.บริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ด้งนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรของอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อยกว่า 80% ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้
นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า จึงขอให้ทุกภาคส่วนเฝ้าระวังที่อาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันอย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจังหวัดศรีสะเกษมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนรอบ 30 ปีจำนวน 1445.8 มิลลิเมตร โดยในช่วงเดือนกันยายนจะมีฝนตกปริมาณมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 278.2 มิลลิเมตร และในช่วงปี 2564 ถึง 2565 พบว่าเดือนกันยายนมีปริมาณฝนตก 447.4 และ 510.2 มิลลิเมตรตามลำดับ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในเดือนกันยายนนี้อาจมีร่องมรสุมและพายุดีเปรสชันพัดผ่านจังหวัดศรีสะเกษเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษและเกาะติดสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีผลกระทบต่อราษฎรน้อยที่สุดต่อไป
ข่าว/ภาพ .... บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ