In News

พม.หนุนมติสมัชชาการพัฒนาเด็กฯในปี66 ชงคกก.ส่งเสริมพัฒนาเด็กฯแห่งชาติ



กรุงเทพฯ-เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 เวลา 11.00 น.  นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานปิดงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” พร้อมทั้งรับฟังขอมติสมัชชาฯ ประจำปี 2566 โดยมีนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาและวิชาการ เครือข่ายผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชน และคณะอนุกรรมการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ และประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting


นายจุติ กล่าวว่า การจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เครือข่ายเด็กและเยาวชน และองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศ ได้มีโอกาสมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในหลากหลายมิติ และได้มาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ทบทวนกลไก กระบวนการทำงาน รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และทัศนคติในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ พร้อมทั้งร่วมกันพิจารณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำข้อคิดเห็นที่ได้มาจัดทำเป็นร่างข้อมติสำหรับการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอดังกล่าว

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่  15 ประจำปี 2566 มีข้อเสนอในด้านต่างๆ อาทิ 1) ด้านการพัฒนาทักษะทางด้านสังคม ให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการปรับสัดส่วนการประเมินผลตามศักยภาพของผู้เรียนโดยลดสัดส่วน การวัดประเมินผลทางวิชาการและเพิ่มสัดส่วนการวัดประเมินผลเชิงทักษะชีวิต รวมทั้งปรับกระบวนการคัดเลือกและหลักสูตรให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีกทั้งสนับสนุนการจัดตั้งชมรมหรือชุมนุมเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในการผลิตซีรีย์ ละคร ภาพยนตร์ 2) ด้านการปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital disruption ให้กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบจากหน่วยงานต่าง ๆ และร่วมกันกำหนดมาตรฐานการพัฒนาหลักสูตรสื่อเทคโนโลยีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และควบคุมแพลตฟอร์มข้อมูลส่วนบุคคล โดยกำหนดให้เป็น Flagship Project (โครงการนำร่อง) ระดับชาติ 3) ด้านการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวง พม. จัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนด้านการศึกษา เพื่อใช้ในการติดตามและป้องกันเด็กและเยาวชนออกจากระบบการศึกษา 4) ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ให้กระทรวง พม. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในหน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันปัญหา และ 5) ด้านสิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการเด็กและเยาวชน ให้กระทรวง พม. เสนอคณะรัฐมนตรีให้สภาเด็กและเยาวชน มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน และผลักดันให้สภาเด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนในทุกระดับของประเทศ

ทั้งนี้ ตนได้ให้ข้อคิดกับผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาว่า การจะเปลี่ยนแปลงโลกต้องเริ่มที่ตนเอง ต้องเข้าใจโลก ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ และเชื่อว่า ข้อเสนอมติสมัชชาฯ ในวันนี้จะสามารถช่วยชี้นำให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานด้านเด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และจะได้มีการนำเสนอข้อมติสมัชชาฯ ต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ต่อไป